Sunday, May 2, 2021

สถานการณ์แรงงาน ประจำเดือน เม.ย. 2564

 


กระทรวงแรงงานเผยนี้ตรวจ COVID-19 ผู้ประกันตนไปแล้วกว่า 30,000 คน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้าการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก ให้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 โดยได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันอำนวยความสะดวกให้แรงงาน ในพื้นที่ 5 จังหวัดเสี่ยง ทั้งกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี และเชียงใหม่ ได้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองฟรี ซึ่งการตรวจเชิงรุก ทราบผลไว ก็ช่วยให้ระบบสาธารณสุข ควบคุมการระบาดได้

และสำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้แรงงาน ผู้ประกันตนฟรี ล่าสุด ให้บริการไปแล้ว 32,476 คน โดยกรุงเทพมหานคร มีผู้รับบริการมากที่สุด 24,130 คน

ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำการทำงานเชิงรุก นอกจากเดินหน้าตรวจคัดกรองอย่างเต็มที่แล้ว ยังต้องประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตนที่อาจติดเชื้อโควิด-19 ส่วนผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่มาก ก็ให้เตรียมประสาน Hospitel หรือ โรงพยาบาลสนาม

ทั้งนี้ จะมีการเปิดหน่วยบริการคัดกรองโควิด-19 ทั้ง 5 พื้นที่ ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2564 นี้ โดยบริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง อาจมีการพิจารณาให้เปิดอีกรอบ ระหว่างวันที่ 5-11 พ.ค. 2564 นี้

ที่มา: ch7.com, 29/4/2564

รองนายกฯ สั่ง พม.-ก.แรงงาน ตั้ง รพ.รองรับเด็กติดโควิด-19

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจราชการที่กระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามผลการดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานทุกกลุ่ม และผู้ประกอบการทุกประเภท ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เป็นปกติ ดังนั้น กระทรวงแรงงานได้ปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล อาทิ มาตรการการคัดกรองและป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุก ใน 5 จังหวัดที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี และเชียงใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด และขอให้ช่วยเหลือผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว โดยให้ประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตนที่อาจติดเชื้อโควิด-19 ส่วนผู้ที่ยังไม่แสดงอาการ ให้ประสานการส่งตัวไปยัง Hospitel ต่อไป

นอกจากนั้น ยังขอให้กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือคนทำงาน และแรงงานนอกระบบ ที่อาจว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือในรูปแบบที่เหมาะสม พร้อมทั้งกำชับกระทรวงแรงงาน ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เร่งสร้างโรงพยาบาลรองรับเด็กที่ติดโควิด-19 เพิ่มเติมด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/4/2564

ภาระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แรงงาน 98% ยอมรับมีหนี้ 85% เคยเบี้ยว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 64 จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,256 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 เม.ย.64 ว่า จากการสอบถามภาระหนี้สินปี 64 เมื่อเทียบกับปี 62 ก่อนกับเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ผู้ตอบมากถึง 98.1% ตอบว่ามีหนี้ และมีเพียง 1.9% ที่ตอบไม่มีหนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่ตอบมีหนี้ 95% และไม่มีหนี้ 5% โดยภาระหนี้ของครัวเรือนแรงงานไทยมีสูงถึง 205,809 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 29.56% จากปี 62 ที่มีภาระหนี้ 158,855 บาท หรือมีภาระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีภาระผ่อนชำระ 8,024 บาท/เดือน

โดยส่วนใหญ่ 71.6% กู้หนี้ในระบบ มีภาระผ่อนชำระ 7,781 บาท/เดือน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 11.25% ต่อปี และอีก 28.4% กู้หนี้นอกระบบ มีภาระผ่อนชำระ 3,223 บาท/เดือน ดอกเบี้ย 19% ต่อปี ขณะที่มากถึง 85.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะขาดสภาพคล่อง รายจ่ายเพิ่ม รายได้ไม่พอ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี และอีก 14.9% ไม่เคย สำหรับสาเหตุการก่อหนี้มากขึ้นมาจากเพื่อใช้จ่ายทั่วไป เพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับ แม้ว่าเงินเดือนหรือรายได้ไม่ได้ถูกปรับลดลงก็ตาม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก รวมถึงจ่ายหนี้บัตรเครดิต หนี้ที่อยู่อาศัย ซื้อยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ลงทุน เป็นต้น

“ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และรายได้เสริมที่ลดลง ทำให้แรงงานใช้จ่ายมากขึ้นสวนทางกับรายได้ ส่งผลให้มีการกู้หนี้เพิ่มขึ้น และเงินออมลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มหาเช้ากินค่ำ

คนมีรายได้น้อย แรงงานภาคบริการท่องเที่ยว และคนกลุ่มนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน มีโอกาสตกงานสูง ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการประคองการจ้างงานด้วยการจ่ายเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่งและนายจ้างอีกครึ่งหนึ่ง (โคเพย์) เพื่อช่วยภาคธุรกิจประคองการจ้างงานในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก จนทำให้เศรษฐกิจซึม”

นอกจากนี้ แรงงานไทยยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทย และการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งหยุดการแพร่ระบาดเร่งฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยโครงการของภาครัฐที่สามารถช่วยเหลือภาคครัวเรือนได้มากที่สุดในด้านการลดค่าครองชีพ คือโครงการคนละครึ่ง รองลงมาโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน

ส่วนการสอบถามถึงการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงานในวันแรงงาน 1 พ.ค.ปี 64 เทียบกับปี 62 เพราะในปี 63 ไม่ได้มีสำรวจการใช้จ่ายวันแรงงาน เพราะมีโควิด-19 ระบาด และรัฐงดจัดกิจกรรม พบว่าจะมีการใช้จ่ายรวม 1,793 ล้านบาท ลดลง 19.7% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 55 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 1,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5%

นายธนวรรธน์กล่าวต่อถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยว่า ประเมินว่าการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดที่เข้มข้นมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้ จะทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไปประมาณวันละ 6,000 ล้านบาท หรือหายไปวันละ 30-40% จากเดิมที่คาดการณ์การควบคุมแบบไม่เข้มข้น เม็ดเงินหายไปประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วง 14 วันจะมีเม็ดเงินหายไปเป็น 80,000 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าหายไป 40,000 ล้านบาท

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/4/2564

กลุ่มคนขับแท็กซี่ บุกคมนาคม ร้อง “ศักดิ์สยาม” ค้านชง ครม. ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงฯ ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้บริการผ่านแอปถูกกฎหมาย

บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม กลุ่มคนขับแท็กซี่ประมาณ 30 คน นำโดย วรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ และ เกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย เดินทางมาในวันนี้เพื่อยื่นหนังสือถึง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องขอคัดค้านการเสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการร่างดังกล่าวในเร็วๆ นี้ โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ)มาขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะให้บริการผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นอย่างถูกกฎหมายกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้

เกรียงไกร เผยว่าทางกลุ่มคนขับแท็กซี่พยายามทำการคัดค้านเรื่องดังกล่าวมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2563 ผ่านการพูดคุยกับตัวแทนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเคยรับปากแล้วว่าจะไม่มีร่างนี้ สำหรับประเด็นที่เป็นปัญหาของร่างกฎกระทรวงนี้ คือการอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) สามารถรับส่งผู้โดยสารผ่านระบบแอปพลิเคชันหรือระบบอื่นใดได้ การผลักดันร่างนี้จึงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการแท็กซี่รายเดิมที่อยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย

ทั้งนี้ เกรียงไกร ระบุว่า ทางกลุ่มพร้อมเปิดรับ เพียงแค่ต้องการให้ประเภทรถที่จะเอามาให้บริการต้องเป็นรถที่มีการจดทะเบียนสาธารณะ (ป้ายเหลือง) และมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะเหมือนกับรถแท็กซี่ในระบบทุกอย่าง ในตอนนี้ อยากร้องขอให้กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเสมือนพ่อ-แม่ของผู้ประกอบการแท็กซี่ไทย หันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียรายได้ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงไม่ควรยกร่างดังกล่าวขึ้นมาซ้ำเติมกัน แต่ควรให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ผ่านการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ที่มา: Voice online, 26/4/2564

สำนักทะเบียนกลาง ระงับปรับปรุง-ออกบัตรแรงงานต่างด้าว ชั่วคราว ตั้งแต่ 26 เม.ย.

26 เม.ย. 2564 เฟซบุ๊ก กรมการปกครอง โพสต์ประกาศว่า สำนักทะเบียนกลาง แจ้งระงับการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวฯ ให้แก่แรงงานต่างด้าว (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ไว้เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคลี่คลาย หากจะเริ่มดำเนินการเมื่อใดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/4/2564

พบแนวโน้มการเลิกจ้างสูงขึ้นในช่วง COVID-19 ระลอกใหม่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปในวงกว้างส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการและลูกจ้าง จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิต ลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว โดยใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลดพนักงาน หรือเลิกกิจการในท้ายสุด ซึ่งจะเกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความสงบสุขในวงการแรงงาน จึงขอให้นายจ้าง ลูกจ้างนำมาตรการและแนวปฏิบัติการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤต และมาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มุ่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยเปิดใจปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อประคองการดำเนินธุรกิจก่อนหยุดกิจการหรือเลิกจ้างลูกจ้าง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดี กสร. กล่าวว่า จากสถิติการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 - 18 เม.ย. 2564 พบว่ามีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,789 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 7,614 คน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,708 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 6,621 คน และมีการหยุดกิจการตามมาตรา 75 จำนวน 708 แห่ง เป็นการหยุดกิจการบางส่วน 517 แห่ง ลูกจ้าง 130,407 คน และหยุดกิจการทั้งหมด 289 แห่ง ลูกจ้าง 61,566 คน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ นายจ้างควรนำมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างมาปรับใช้ ซึ่งมี 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการลดค่าใช้จ่าย 2.มาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และ 3.มาตรการลดจำนวนลูกจ้าง โดยขอให้การเลิกจ้างเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจ ทั้งนี้นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น ลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26/4/2564

ประกันสังคมตรวจโควิด เชิงรุก 20,000 คน พบติดเชื้อกว่า 400 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 3 ว่า กระทรวงแรงงาน ได้รับการประสานจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ว่าให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด -19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตนกับกระทรวงสาธารณสุขที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง ต่อ โดยให้เพิ่มมาตรการตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด ดังนี้

1) เว้นระยะห่างจาก 1.5 เป็น 2 เมตร

2) หากตรวจเจอว่าผู้ประกันตนรายใดมีความเสี่ยงสูงหรือไข้สูง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที และ

3) ส่วนผู้ที่มีผลเป็นบวกแล้วแสดงอาการจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการจะส่งเข้ารักษาที่ Hospitel

ทั้งนี้ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนหน้านี้แล้วว่าต้องดำเนินการเชิงรุกให้มากที่สุด เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการยังเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน เนื่องจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทุกภาคส่วน รัฐบาล ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีความห่วงใยมายังพี่น้องผู้ประกันตนทุกคนจากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในขณะนี้ จึงกำชับให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดพื้นที่สีแดงหรือจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. เพิ่มช่องทางหรือทางเลือกเพื่อบริการผู้ประกันตนให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว ลดความแออัด ลดการแพร่ระบาด ไม่ต้องรอคิวนาน ตรวจเสร็จแล้วหากพบติดเชื้อส่งรักษาทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33,39 และ 40 ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ประกันตนรวมจำนวนกว่า 4,700,000 คน ซึ่งที่ศูนย์เยาวชน (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เริ่มตรวจจริงเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา และขยายจุดตรวจไปยังจังหวัดพื้นที่สีแดง เมื่อวันที่ 24 -30 เม.ย. 2564 ในจังหวัดปทุมธานี ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดชลบุรี ที่โรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร และจังหวัดเชียงใหม่ที่ รพ.นครพิงค์ รพ.สันป่าตอง รพ.มหาราช รพ.ราชเวช รพ.เทพปัญญา รพ.ลานนา และ รพ.เชียงใหม่ใกล้หมอ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่าจากผลการตรวจพบว่า (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย. 2564 เวลา 16.00 น.) ขณะนี้ตรวจไปแล้วกว่า 20,000 คน ติดเชื้อกว่า 400 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการจะถูกส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม จำนวน 81 แห่ง ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการจะถูกส่งตัวไปยัง Hospitel ซึ่งมีทีมแพทย์ดูแลตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ รมว.สุชาติ กล่าวว่าการดำเนินการของกระทรวงแรงงานในการเปิดตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนในครั้งนี้ สอดคล้องกับที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันตรวจให้ได้มากที่สุด เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากประชากรทั่วไปให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ทางฝ่ายรัฐจะต้องเป็นผู้ดูแล ผู้ที่ตรวจให้ผลบวกทั้งหมด และจัดสรรผู้ที่มีอาการมากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ที่มา: TNN, 25/4/2564

รมว.แรงงาน เผยยอดผู้สมัครงานใช้บริการหางาน 191,564 คน บรรจุงานแล้ว 152,158 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยสถานการณ์การว่างงานของคนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมาก ในฐานะ รมว.แรงงาน ทราบสถานการณ์เป็นอย่างดีและไม่เคยนิ่งนอนใจ ได้กำชับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตลอดว่า ยิ่งมีคนว่างงานมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของเรายิ่งต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีรายได้ สามารถรับมือจนวิกฤติโควิด-19 นี้ผ่านพ้นไป

โดยจากสถิติผู้สมัครงานที่ใช้บริการจัดหางานกับกรมการจัดหางานในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564 ) มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 191,564 คน ได้รับการบรรจุงาน 152,158 คน หรือร้อยละ 79.43 แบ่งเป็นใช้บริการ ณ พื้นที่กรุงเทพมหานคร 39,495 คน บรรจุ 31,948 คน หรือร้อยละ 80.89 ปริมณฑล 19,075 คน บรรจุ 14,773 คน หรือร้อยละ 77.45 ภาคกลาง 47,708 คน บรรจุ 42,163 คน หรือร้อยละ 88.38 ภาคเหนือ 26,827 คน บรรจุ 21,509 คน หรือร้อยละ 80.18 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30,540 คน บรรจุ 22,344 คน หรือร้อยละ 73.16 และ ภาคใต้ 27,919 คน บรรจุ 19,421 คน หรือร้อยละ 69.56 โดยสามารถใช้บริการจัดหางาน ณ พื้นที่ที่ต้องการทำงานหรือเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือ ไทยมีงานทำ.com ได้ตามที่สะดวก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สะดวกรวดเร็ว และลดความเสี่ยงของโรคโควิด-19 จากการเดินทางไปที่สาธารณะ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้สั่งการ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดให้บริการประชาชนที่ว่างงาน ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน กลุ่มเปราะบาง ตลอดจนผู้ต้องการหางานทำทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความลำบากของคนหางานให้มาก

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานมีการนำบริการที่ครอบคลุมภารกิจทุกด้านของกรมการจัดหางาน เข้าหาประชาชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งบริการของรัฐ ทั้งด้านข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน การให้บริการจัดหางาน รวมทั้งการแนะแนวอาชีพ แนวทางการประกอบอาชีพอิสระ และฝึกอาชีพอิสระ ที่เน้นการให้บริการตรงถึงระดับตำบล ชุมชน และครัวเรือนที่ยากจน โครงการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ศูนย์บริการจัดหางาน Part Time โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-Payment) ตลอดจนสนับสนุนเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ย 0% แก่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ที่มา: สยามรัฐ, 24/4/2564

ประธานหอการค้าภาคตะวันออกชี้ให้เงินเยียวยาเป็นเรื่องดีแต่ไม่เหมาะระยะยาว หวั่นเสียระบบคนไม่หางานทำรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผยกับสำนักข่าวสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นว่าในปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องเจอวิกฤตโควิดระลอกใหม่ บางธุรกิจแบกภาระไม่ไหว ต้องปลดพนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว คนว่างงานน่าจะมีจำนวนไม่น้อย แต่กลับเป็นว่า ภาคเอกชนหรือธุรกิจกลับหาแรงงานได้ยากมาก

ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูกาลผลไม้แล้ว ต้องติดตามแรงงานในส่วนนี้ด้วยว่า จะเพียงพอในการเก็บผลผลิตหรือไม่ เพราะผลไม้ถ้าต้องแขวนไว้ที่ต้นนานไปคงไม่ดีกับราคาและรายได้ของเกษตรกรชาวสวน

ส่วนมาตรการภาครัฐ ที่ควรเข้าไปดูแลในช่วงที่โควิดระบาดนั้น การให้เงินถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การให้ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดผลเสีย โดยเฉพาะระบบแรงงาน ที่บางคนอาจไม่คิดจะหางานประจำ เพราะถ้ามีงานแล้วต้องเข้าระบบ ทำให้รัฐรู้ข้อมูลและฐานรายได้ การจะได้รับความช่วยเหลือย่อมมีความแตกต่างจากคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 23/4/2564

50 เขตใน กทม. งดบริการงานทะเบียนแก่แรงงานต่างด้าวในทุกกรณี

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโค (COVID-19) ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และกระจายตัวออกไปครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างรวดเร็ว โดยฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ยังคงเปิดให้บริการประชาชน และมีประชาชนมาใช้บริการอย่างหนาแน่น จึงมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเป็นไปตามแนวทางหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงให้สำนักงานเขตดำเนินการ ดังนี้ ในวันราชการปกติ (วันจันทร์ - วันศุกร์) ให้บริการเวลา 08.00-16.00 น. งานทะเบียนราษฎร ให้บริการเฉพาะการรับแจ้งเกิด - ตาย และให้บริการตรวจ คัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร งานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนเฉพาะกรณีบัตรหาย งานทะเบียนทั่วไป ให้บริการตรวจ คัดและรับรองเอกสารเกี่ยวกับงานทะเบียนทั่วไป

สำหรับในวันหยุดราชการ (วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักชัตฤกษ์) เวลา 08.00-16.00 น. ให้บริการเฉพาะรับแจ้งเกิด - ตาย รวมทั้งงดจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ) และงานทะเบียนแก่แรงงานต่างด้าวในทุกกรณี (ยกเว้นการแจ้งเกิดกรณีปกติ และการแจ้งตาย) ในกรณีที่ประชาชนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เอกสารหลักฐานทางการทะเบียนให้พิจารณาดำเนินการเป็นกรณี ๆ ไป อย่างไรก็ตามให้พิจารณากำหนดสัดส่วนผู้ปฏิบัติงานที่บ้านตามความเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการและไม่เกิดความเสียหายแก่ราชการ

ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ได้กำชับ 50 สำนักงานเขต พิจารณากำหนดจำนวนผู้รับบริการ (คิว) ในการให้บริการประชาชนให้เหมาะสม เพื่อลดความหนาแน่นของประชาชนที่มารับบริการ โดยให้นำระบบจองคิวออนไลน์ (BMAQ) มาใช้ในการบริหารจัดการจำนวนผู้มาขอรับบริการ และนำระบบลงทะเบียนออนไลน์ "ไทยชนะ" มาใช้อย่างเคร่งครัด

ที่มา: บ้านเมือง, 23/4/2564

การบินไทย ชี้แจงโครงสร้างองค์กรใหม่ตามแผนฟื้นฟูฯอิงกฎหมายแรงงาน แม้ใครไม่เข้าโครงการยังคงสถานะพนักงานตามเดิม

รายงานข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ และการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ สวัสดิการของพนักงาน เป็นไปตามกรอบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะสอดคล้องกับฐานะทางการเงินและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ได้ขอพนักงานพิจารณาให้ความร่วมมือกับบริษัทฯ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้สำเร็จ บริษัทฯ จึงได้สื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่มีความเข้าใจสถานการณ์ของบริษัทฯ และให้ความร่วมมือเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ (Relaunch) ด้วยความสมัครใจ ถึง 96%

ทั้งนี้พนักงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในครั้งที่ 1 ก็สามารถเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองฯ ครั้งที่ 2 ได้ และตามโครงสร้างใหม่นี้ บริษัทฯยังมีตำแหน่งงานรองรับได้อีกหลายอัตราขณะเดียวกันพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง ได้สมัครใจเข้าโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP (Mutual Separation Program A, B, และ C) เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทฯ

อย่างไรก็ดี สำหรับพนักงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างใหม่ทั้ง 2 ครั้ง รวมถึง พนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองฯ พนักงานก็ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานการบินไทย โดยบริษัทฯจะดูแลพนักงานทุกคนของบริษัทฯ และดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประการ

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) และสหภาพแรงการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบกระบวนการกลั่นกรองฯและการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานของพนักงานในการเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ของบริษัท การบินไทย ปี 2564 ที่ส่อขัดต่อพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ที่ระบุว่า โดยเห็นว่ากระบวนการกลั่นกรองพนักงานฯไม่เป็นคุณกับพนักงาน ขัดต่อพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 เข้าข่ายเป็นโมฆะ

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 22/4/2564

DSI สนธิกำลังร่วมเจ้าหน้าที่นครปฐมครึ่งร้อยบุกตรวจโรงงานขนมจีน หลังแรงงานพม่าร้องถูกทารุณ

21 เม.ย. 2564 นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ ปลัดจังหวัดนครปฐม ได้นำกำลังโดยการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดนครปฐม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครปฐม ฝ่ายปกครองอำเภอบางเลน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดหน่วยปฏิบัติพิเศษภูธรจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางเลน เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดนครปฐม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดนครปฐม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 60 นาย ลงพื้นที่จู่โจมตรวจสอบภายในโรงงานขนมจีนตราเพชร ตั้งอยู่ริมถนนสายนิลเพชร-บางเลน และขนมจีนแป้งหมักเจ้าสัว เลขที่ 4/1 และ 4/2 ม.1 ต.นิลเพชร อ.บางเลน จ.นครปฐม หลังได้รับการร้องเรียนว่ามีคนงานขอความช่วยเหลือว่าถูกกดขี่และใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ในการบุกเข้าจู่โจมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้นำแรงงานชาวพม่า ประมาณ 20 คน นั่งอยู่ในรถตู้เพื่อมาชี้เป้าหมายในโรงงานดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดได้หลบหนีออกมาและไปร้องเรียนขอความช่วยเหลือที่สถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ว่า โรงงานดังกล่าวมีการใช้แรงงานอย่างหนัก และไม่มีการจ่ายเงินเดือนตรงกับที่แจ้งไว้ ให้ทำงานเกินเวลาโดยไม่มีค่าล่วงเวลา ไม่มีค่าโอที ซึ่งต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปภายในได้มีแรงงานชาวพม่า ทั้งชายหญิงกำลังทำงานอยู่ภายในเจ้าหน้าที่จึงได้มีการสั่งให้มีการรวมตัวกันและนำล่ามมาช่วยตรวจสอบในเรื่องที่รับร้องเรียน

เบื้องต้น ได้พบกับเจ้าของโรงงาน พร้อมทั้งได้สั่งการให้มีการนำเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับตัวแรงงานและการดำเนินการต่างๆ อย่างละเอียดมาชี้แจงต่อหน่วยงานต่างๆ ซึ่งพบว่า มีแรงงานไทย 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน ชาวพม่า 15 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 4 คน ลาว 1 คน ซึ่งมีการสอบปากคำพนักงานทุกคนอย่างละเอียดถึงเรื่องที่รับร้องเรียนผ่านมาจากสถานเอกอัคราชทูตพม่า และพบว่ามีแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต 2 ราย ถือใบอนุญาตผิดตัวกับแรงงานที่อยู่ในโรงงานอีกหลายราย โดยจะมีการตรวจสอบการขอใบอนุญาตในการประกอบการ รวมถึงการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม และตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิ-19 หากผิดกฎหมายเรื่องใดจะมีการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาทันที

โดยเบื้องต้น ตำรวจ สภ.บางเลน เจ้าของพื้นที่ได้ดำเนินการเรื่องแรงงานไม่มีใบอนุญาตไว้ก่อน หากพบว่ามีการใช้แรงงานเข้าข่ายการค้ามนุษย์หลังจากสอบปากคำ และหาหลักฐานประกอบครบถ้วนจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/4/2564

สหภาพการบินไทย 2 แห่ง ยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน ร้องขอความช่วยเหลือกรณีเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไม่เป็นธรรม

รายงานข่าวระบุว่า นายสรยุทธ หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย และ นายศิริพงศ์ ศุกระกาญจนาโชค ประธานสหภาพแรงการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ พร้อมด้วยตัวแทน ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่อง แจ้งการพบเห็นเอกสารที่มีปัญหาข้อกฎหมาย และขอคัดค้านการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ที่กระทรวงแรงงาน ในช่วงเช้าวันที่ 21 เม.ย.2564

สำหรับการบินไทยอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยได้ยื่นแผนฟื้นฟูต่อกรมบังคับคดีแล้ว และเตรียมที่จะประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.2564

เฟซบุ๊ค TG Union โพสต์ข้อความระบุว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นการขอความช่วยเหลือกระทรวงแรงงานให้ออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถเลิกจ้างพนักงานและผ่อนจ่ายค่าชดเชยในกรอบระยะเวลาที่นายจ้างกำหนดขึ้นเองได้ตามสมควร และออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง อนุกรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยไม่ต้องทำตามข้อกฎหมาย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 21/4/2564

เร่งเยียวยา 'ผู้ประกันตน' ทำงานกลางคืนจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงจากข้อห่วงใยของรัฐบาล ได้ให้ช่วย"ก.แรงงาน"ดูแลพี่น้อง "แรงงาน" ที่ "ทำงานกลางคืน"ให้เหมือนคนในครอบครัวภายใต้กรอบของกฎหมาย เนื่องจากคน "ทำงานกลางคืน" เช่น ผับ บาร์ สถานบันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบริการ เป็นต้น

ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด- 19" ซึ่งเป็น "ผู้ประกันตน"ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยากรณีนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย "โควิด-19"

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กรณีเหตุสุดวิสัย"โควิด-19" กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป

ให้ความคุ้มครองกรณี "ผู้ประกันตน"ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากต้องกักตัวเฝ้าระวังการระบาดของโรค นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจกรรมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วันซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป และสำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้นายจ้างและ "ผู้ประกันตน" ที่ได้รับผลกระทบยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 21/4/2564

ครม. เบรกตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

20 เม.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติให้ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ควรจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการออกกำลังกาย นันทนาการ และกีฬา ของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน

นายอนุชากล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีความเห็นให้ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมาย และให้ชำระบัญชีเงินทุนหมุนเวียนและนำเงินคงเหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินด้วย เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายแล้ว และไม่เห็นควรจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการออกกำลังกาย นันทนาการ และกีฬา ของกรมพลศึกษา เนื่องจากเป็นงานซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติของหน่วยงานและซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนอื่นในการสนับสนุนเงินเยียวยาค่ารักษาแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งผู้ให้บริการสถานที่ออกกำลังกายควรเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยในการใช้สถานที่

“รวมทั้งไม่เห็นควรจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน (อ่านเพิ่มเติม https://www.prachachat.net/csr-hr/news-62481) เนื่องจากเป็นภารกิจปกติของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแหล่งรายได้ของกองทุนฯ ซึ่งมาจากเงินค่าสมาชิกอาจไม่มีความยั่งยืน ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณเป็นรายได้หลัก”

นายอนุชากล่าวว่า ยังเน้นว่า การขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้ทุนหมุนเวียนที่หน่วยงานของรัฐขอจัดตั้งจะต้องไม่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับภารกิจปกติของหน่วยงานรัฐและต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอื่น หรือทุนหมุนเวียนที่ดำเนินการอยู่แล้ว ด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอแนะว่า กระทรวงแรงงานควรบูรณาการด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบภายใต้หน่วยงานและทุนหมุนเวียนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน หรือดำเนินการขยายวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ของกรมการจัดหางาน ให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ

สอดรับกับกระทรวงแรงงานที่เห็นว่า คณะรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้กระทรวงดำเนินการขยายวัตถุประสงค์ของกองทุน เพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพและโอนกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านมาอยู่ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/4/2564

แรงงานทะลักเข้าเมือง หลังมาเลเซียผลักดันต่างชาติ

19 เม.ย. 2564 แรงงานไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 44 คน เป็นแรงงานไทยกลุ่มล่าสุดที่เข้าเมืองไม่ถูกต้อง ซึ่งถูกควบคุมตัวขณะข้ามแม่น้ำโกลก มายังประเทศไทย ใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือเดินทางจึงตัดสินใจกลับประเทศ หลังทางการมาเลเซียได้ออกประกาศผลักดันชาวต่างชาติ ที่อาศัยในมาเลเซียไม่ถูกต้อง ต้องออกนอกประเทศก่อนวันที่ 21 เม.ย.นี้

การทะลักของแรงงานไทยที่มีมากขึ้นทำให้แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ก่อนสั่งการให้เจ้าหน้าที่คุมเข้มทุกด่านพรมแดน โดยเฉพาะในเส้นทางธรรมชาติของ จ.นราธิวาส และสงขลา ที่มีหลายช่องทาง ประกอบกับน้ำในแม่น้ำโกลกเริ่มแห้งจึงสามารถเดินข้ามมาได้ทั้งที่ อ.ตากใบ อ.แว้ง และ อ.สุไหงโก-ลก จึงง่ายที่จะลักลอบเข้าเมือง

รั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย ใน อ.สะเดา จ.สงขลาถูกตัดชำรุดหลายจุด โดยจุดตัดรั้วชายแดนในอดีต มักถูกใช้ในการขนย้ายสิ่งผิดกฎหมาย แต่หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 ถูกเปลี่ยนมาเป็นที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดตลอดแนวชายแดน

จากข้อมูลของกองทัพภาคที่ 4 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2563 ถึง เม.ย. 2564 มีผู้เดินทางเข้าเมืองผิดกฏหมายผ่าน 5 ด่านหลัก คือ สุไหงโก-ลก, เบตง, สะเดา, วังประจัน และตำมะลัง จำนวน 4,853 คน และเข้าเมืองถูกกฎหมาย 24,769 คน แต่หลังการผลักดันชาวต่างชาติกลับประเทศ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีคนเดินทางกลับมากขึ้น

โดยเฉพาะวันนี้ที่เป็นวันแรกในการเปิดรับคนไทยกลับประเทศ ทำให้เกือบทุกด่านมีคนไทยลงชื่อขอกลับจนเกือบเต็มโค้วต้า เช่นที่ด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย อ.สะเดา วันนี้มีคนไทยที่ลงชื่อขอกลับ 119 คน ซึ่งส่วนใหญ่หนังสือเดินทางหมดอายุ อย่างพระสงฆ์รูปนี้เคยจำวัดที่รัฐปีนัง ก็ตัดสินใจกลับหลังการผลักดันชาวต่างชาติของมาเลเซีย

ความต้องการกลับประเทศที่มากขึ้นทำให้ด่านพรมแดนอำเภอสะเดาปรับมาเปิดให้บริการทั้ง 7 วัน จากปกติที่จะการเปิดรับสับดาห์ละ 3 วัน และเตรียมโรงแรมที่จะใช้เป็นพื้นที่กักตัวประมาณ 500 ห้อง เช่นเดียวกับใน จ.ยะลา นราธิวาส และสตูลก็ได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับมากขึ้น

ที่มา: Thai PBS, 19/4/2564

ประกันสังคม ขยายจุดตรวจโควิดเชิงรุกเพิ่ม 18 จังหวัดสีแดง

19 เม.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยผู้ประกันตนที่เดินทางกลับต่างจังหวัด และไปในสถานที่เสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการตรวจ โควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ,39 และ 40 ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตาม “โครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” โดยจัดตรวจที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวก และตลอด 3 วันที่ผ่านมา ของการตรวจ ผมได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องและกำชับให้สำนักงานประกันสังคมตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน

ซึ่งรายงานของสำนักงานประกันสังคมพบว่า ภาพรวมของโครงการเป็นที่น่าพอใจ ราบรื่นดี ขั้นตอนต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามแนวทางและมาตรการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากพบผู้ประกันตนรายใดตรวจพบเชื้อจะถูกส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่โรงแรมที่เป็น HQ (Hospital Quarantine) ตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกันตนคลายความกังวลใจได้ซึ่งเป็นสถานที่รองรับการรักษาตามอาการและอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการดังกล่าวกระทรวงแรงงานยังมีแผนที่จะดำเนินการขยายจุดตรวจไปยังจังหวัดพื้นที่สีแดงอีก อาทิ ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ไปในสถานที่เสี่ยง และเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.กำหนด สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php เพื่อจองคิวตรวจโควิด-19 ซึ่งหากพบเชื้อสามารถเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดได้อย่างทันท่วงที

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/4/2564

กรมการจัดหางาน แจงสถานการณ์การว่างงาน ปี 2564 คนว่างงานกำลังลดลง ผู้ประกันตนกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่ม

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 39.45 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 38.76 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคบริการ และการค้า 17.50 ล้านคน ภาคเกษตรกรรม 13.48 ล้านคน และภาคการผลิต 7.78 ล้านคน โดยเป็นผู้ว่างงาน 0.59 ล้านคน หรือประมาณ 590,000 คน แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 0.18 ล้านคน และเคยทำงานมาแล้ว 0.41 ล้านคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 พบว่าผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 0.22 ล้านคน แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้มีงานทำก็เพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านคนเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนของผู้อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด ทั้งกว่าร้อยละ 65 ของคนว่างงาน พบว่ามาจากแรงงานเก่า ซึ่งมีทั้งถูกให้ออกจากงาน ถูกเลิกจ้างจากสาเหตุการปิดกิจการ จากการหมดสัญญาจ้าง และการลาออกเอง และอีกร้อยละ 35 ของผู้ว่างงานเป็นแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ระบบ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม 2564 มีผู้ประกันตนกรณีว่างงาน กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคม 155,958 ราย และผู้ประกันตนรายใหม่ 84,241 ราย รวมทั้งสิ้น 240,199 ราย แยกเป็นเดือนมกราคม 85,970 ราย เดือนกุมภาพันธ์ 81,064 ราย และเดือนมีนาคม 73,165 ราย ในขณะที่จำนวนผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์กรณีว่างงานมี จำนวน 119,987 ราย โดยมีการลดจำนวนลงตามลำดับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้แรงงานมีชั่วโมงทำงานลดลง ทั้งจากสถานประกอบการดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่ การปรับลดกำลังการผลิต การลดการทำงานล่วงเวลา ซึ่งสาเหตุที่กล่าวมานี้กระทบต่อรายได้ของแรงงานถึง 5.96 ล้านคน อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างจากทั่วประเทศ เพื่อผู้ประสงค์จะทำงาน จำนวน 225,207 อัตรา ไว้รองรับ พร้อมกับวางแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในการเตรียมความพร้อมให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน การส่งเสริมการมีงานทำสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ และเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน (โครงการ Co Payment) การหาแนวทางเพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานนอกระบบ จากการให้เงินกู้ โดยคิดดอกเบี้ย 0% แก่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทั้งหมดเพื่อรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ใช้แรงงานได้มีงานทำต่อไป ตามนโยบายของรัฐบาลและเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 17/4/2564

สภานายจ้างชี้ COVID-19 รอบนี้รุนแรง ห่วงธุรกิจลดจำนวนพนักงาน-เลิกจ้าง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงนี้ว่า พฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไป โดยการหันไปซื้อของออนไลน์มากขึ้น และออกไปห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรดน้อยลง ส่งผลให้สถานประกอบการบางแห่งลดจำนวนพนักงานลง

นายธนิต ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้มีโอกาสหารือกับเจ้าของภัตตาคาร พบว่ามีการปรับลดพนักงานจาก 300-400 คน เหลือเพียงประมาณ 100 คน เท่านั้น ทำให้เห็นว่า ขนาดธุรกิจขนาดใหญ่ยังประคองตัวเองได้ยากในช่วงนี้ จึงกังวลว่า หากโควิดรอบนี้รุนแรงจะทำให้แรงงานกลุ่มนี้จะถูกจำนวนลง ซึ่งจะทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น

“จากตัวเลขการว่างงานที่รัฐประเมิน มองว่าภาครัฐพยายามพูดออกมาให้เป็นปกติ แต่ภาคเอกชนเห็นว่า ไม่ปกติ ซึ่งข้อมูลขัดแย้งกับเอกสารสภาวะการจ้างงาน ของกระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่มีการจ้างงานลดลงประมาณ 5% ทุกประเภทการจ้างงาน แสดงว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบาง”

“ขณะเดียวกัน แรงงานในประกันสังคม ตามมาตรา 33 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีแรงงานหายไปเกือบ 6 แสนคน ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดแรงงานต้องดูสถานการณ์โควิดจะรุนแรงขนาดไหน และถ้าหากมีการประกาศล็อกดาวน์ การฟื้นตัวก็ต้องยึดยาวออกไปอีกแน่นอน” นายธนิตกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/4/2564

กสร. ปรับปรุงการยื่นคำร้องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ยกเลิกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2560 โดยปรับปรุงและออกประกาศฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับปรุงประกาศในครั้งนี้เพื่อยกระดับการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐให้อยู่ในระบบดิจิทัล ประชาชนได้รับความสะดวกในการรับบริการและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ โดยมีสาระสำคัญได้แก่ ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยลงทะเบียนขอรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านทางเว็บไซต์ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (eservice.labour.go.th) เมื่อได้รับรหัสดังกล่าวแล้วสามารถยื่นคำร้องตามขั้นตอนในระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ขอให้เก็บรักษารหัสผู้ใช้และรหัสผ่านไว้เป็นความลับ เนื่องจากเป็นข้อมูลในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้ระบบ และถือเป็นหลักฐานในการแสดงการลงลายมือชื่อของผู้ใช้ระบบในการติดต่อกับพนักงานตรวจแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การยื่นคำร้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ใช้ระบบถือเป็นหลักฐานการยื่นคำร้องเป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยผู้ใช้ระบบสามารถติดตามผล ส่งเอกสารเพิ่มเติม หรือยกเลิกคำร้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ในส่วนของบรรดาคำร้องที่ได้ยื่นตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงานก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าคำร้องที่ยื่นไว้จะถึงที่สุด

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/4/2564

สตม.จับแรงงานผิดกฎหมาย 4 เดือน 2,490 ราย

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) เปิดเผย ถึงการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตั้งแต่ ม.ค.-ปัจจุบัน ว่า ได้ดำเนินการทั้งสิ้น 4 คดี ได้แก่ 1. ตม.จันทบุรี จับกุมแก๊งลักลอบขนย้ายแรงงานชาวกัมพูชา หลังจากสืบทราบว่าจะมีการใช้รถกระบะเป็นพาหนะในการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างด้าวผ่านพื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี เมื่อเจอรถต้องสงสัยจึงเข้าสกัดจับจากการตรวจค้นพบแรงงานชาวกัมพูชา 5 คน มีหนังสือเดินทางถูกต้อง ส่วนคนขับคือ นายโสภณ อายุ 32 ปี สัญชาติไทย รับสารภาพว่านำแรงงานชาวกัมพูชาทั้งหมดมาจากท่าเรือตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด มีจุดหมายปลายทางที่ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จึงส่งตัวทั้งหมดดำเนินคดีที่ สภ.มะขาม ในความผิดฐาน เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

คดีที่ 2. ตม.ราชบุรี จับกุมแรงงานชาวเมียนมา 5 คน ที่ปลอมแปลงเอกสาร และใช้ตราประทับปลอม เพื่อขอผ่อนผันอยู่ต่อในราชอาณาจักรในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงส่งตัวให้ สภ.เมืองราชบุรี ดำเนินคดี นอกจากนี้ยังพบว่ามีนายหน้าชาวเมียนมาร์ร่วมกับคนไทยรับจ้างต่อวีซ่าปลอมให้กับแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งอยู่ระหว่างขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

คดีที่ 3. ตม.มุกดาหาร จับกุมแก๊งลักลอบขนแรงงานเถื่อน มีแรงงานชาวลาว 16 คน ใช้รถตู้เป็นยานพาหนะ มีนายยงยุทธ อายุ 23 ปี เป็นคนขับ และมีนางสาวพรรณิภา อายุ 23 ปี เป็นผู้ติดตาม โดยรับสารภาพว่า ได้รับการจ้างวานให้มารับแรงงานชาวลาว ที่อำเภอเมืองมุกดาหาร เพื่อไปส่งที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 15,000 บาท แต่มาถูกจับกุมเสียก่อน นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานชาวลาวทั้งหมดลักลอบเข้าเมืองเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างขยายผล ผู้ร่วมกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

และ 4. ตม.หนองคาย จับกุม นายถาวร อายุ 48 ปี และ นายมัย (Mai) อายุ 33 ปี สัญชาติเวียดนาม ที่นำพาชาวเวียดนามอีก 9 คน หลบหนีเข้าเมือง ผ่านประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทางจังหวัดหนองคาย เคยถูกจับกุมได้เพราะเจ้าหน้าที่ใช้รถยนต์ตรวจการณ์อัจฉริยะเข้าสกัดจับขณะลักลอบขนชาวเวียตนามดังกล่าว บริเวณริมแม่น้ำโขง ตำบลเมืองหมี อำเภอเมืองหนองคาย โดยมีนายถาวรเป็นคนขับ โดยได้รับการจ้างวานจากนายมัย 3,000 บาท ให้พาชาวเวียตนาม จากริมแม่น้ำโขงอำเภอเมืองหนองคาย ไปส่งที่สถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานี ก่อนจะขยายผลไปจับกุมนายมัยที่รอรับอยู่ที่สถานีขนส่ง เพื่อพาขึ้นรถเดินทางไปกรุงเทพมห

"ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ได้จับกุมแรงงานลักลอบเข้าเมืองได้ทั้งสิ้น 2,490 คน ยังพบมีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะเดินหน้าจับกุมต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากชาวต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง" พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/4/2564

สสส.เผยผลสำรวจ COVID-19 ทำคนไทยตกงานกว่า 6 ล้านคน ใช้ทักษะที่มีทำอาชีพอื่นไม่ได้ คาดเด็กจบใหม่เตะฝุ่นกว่า 1.3 ล้านคน

15 เม.ย. 2564 นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอก สร้างผลกระทบโดยตรงกับวัยแรงงานอย่างรุนแรง เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน จากการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤตโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ปี 2563

ผลสำรวจพบว่า ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพหรือทักษะในการประกอบอาชีพจากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานร้อยละ 14 หรือกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคนว่างงานร้อยละ 17.9 หรือกว่า 6 ล้านคน

ที่สำคัญยังพบว่า แรงงานทั้งในและนอกระบบส่วนมากยังไม่มีแผนการออม ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ด้วยสถานะของแรงงานในระบบทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นบุคคลที่มีทักษะเชิงเดี่ยวไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง

นางเข็มเพชร กล่าวต่อว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงริเริ่มโครงการ “ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” โดยมีเป้าหมายสนับสนุนทุนให้ประชาชนที่สนใจ 100 โครงการ โครงการละ 50,000-100,000 บาท ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และทักษะด้านการเงิน เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ในสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนค่าใช้จ่ายและการออม การลงทุน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมใช้พลังกลุ่มแก้ปัญหา เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

2.ส่งเสริมให้คนในชุมชนพัฒนาแหล่งอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และ 3.ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ-รายได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เกิดกิจกรรมสุขอนามัยในย่านชุมชน เช่นตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และพื้นที่ควบคุมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อีก 14 จังหวัด โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนมกราคม 2565

“สสส. หวังเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการอยู่รอด มุ่งสานพลังระดับพื้นที่ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมกลไกที่ทันต่อสถานการณ์ รวดเร็วและคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเสนอโครงการเข้ามาขอสนับสนุนทุนผ่านหน่วยจัดการ (Node) 5 หน่วยจัดการครอบคลุมทุกภูมิภาค ขณะนี้มีประชาชนสนใจเสนอโครงการแล้วกว่า 100 โครงการ

ซึ่ง สสส. จะพิจารณากลั่นกรองโครงการที่มีคุณสมบัติและความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการ โดยหน่วยจัดการจะเป็นพี่เลี้ยงจัดกระบวนการเสริมทักษะพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้รับทุนที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามและติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สร้างสรรค์โอกาส”

www.facebook.com/Section6TH” ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 15/4/2564

“ผู้ประกันตน” พื้นที่สีแดงเสี่ยงโควิด รัฐจัดตรวจให้ฟรี 6 จังหวัด “กทม.-นนทบุรี-ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม-ชลบุรี” คิกออฟ 17 เม.ย.นี้ ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รวม.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงานเพื่อมาหารือกำหนดแนวทางที่จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรุงเทพมหานคร เพื่อวางแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกันตนให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโควิด-19 ทั้งมาตรา 33 , 39 และ 40 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่สีแดง รวมถึงพื้นที่อุตสาหกรรมใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม และ ชลบุรี

โดยยึดหลักการอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้อง "ผู้ประกันตน" ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการลดความเสี่ยงที่จะต้องเดินทางไปตรวจคัดกรองยังสถานพยาบาลอีกด้วยในเบื้องต้นได้เตรียมทำการนำรองในกรุงเทพมหานคร โดยจะเปิดให้ "ผู้ประกันตน" ที่จะเข้ารับการตรวจสามารถลงทะเบียนจองคิวตรวจผ่านระบบแอพพลิเคชั่นออนไลน์ สำหรับคุณสมบัติของคนที่จะได้เข้าตรวจคือ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คัดกรอง และสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ชั่วโมงละไม่ต่ำกว่า 300 คน ทราบผลการตรวจภายใน 24 - 48 ชั่วโมง ซึ่งจะ kick off ในวันเสาร์ที่ 17 เมษายนนี้ ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย - ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

และในส่วนของจังหวัดที่เหลืออีก 5 จังหวัดนั้น ได้ประสานขอไปยังหน่วยราชการและโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อจัดเตรียมแผนและสถานที่ ซึ่งในครั้งนี้ได้หารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรียบร้อยแล้วโดยกระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ "ผู้ประกันตน" ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ที่กำลังเดินทางกลับจากเทศกาลสงกรานต์เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ฟรี

ทั้งนี้ หากพบว่า "ผู้ประกันตน" รายใดตรวจพบเชื้อโควิด-19 จะต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายในสังกัดสำนักงานประกันสังคม โดย "ผู้ประกันตน" ที่ติดเชื้อโควิด -19 จะได้รับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ซึ่งมีอยู่จำนวน 81 แห่ง ที่มีความพร้อม มีเตียงรองรับกว่า 1,000 เตียง มี HQ 200 กว่าเตียงสำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด -19 แก่ "ผู้ประกันตน" ในระบบประกันสังคมมาตรา 33, 39 และ 40 ในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มช่องทางของหน่วยบริการตรวจ เนื่องจากขณะนี้หลายโรงพยาบาลมีผู้มาใช้บริการเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด -19 เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัด คิวยาวกระทรวงแรงงานจึงมีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตน ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอีกทางหนึ่งอันจะส่งผลให้ภาคธุรกิจดำเนินการต่อไปได้

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 13/4/2564

การบินไทยเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 พนักงานกลุ่มเสี่ยง 4.5 พันคน เข็มแรก 19 เม.ย.นี้

ฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท การบินไทยฯ ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน ประเทศไทย (Airline Operators Committee Thailand หรือ AOC) ได้ประสานกับคณะกรรมการ AOC ผ่านไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด ให้แก่พนักงานภายใต้สังกัดฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายครัวการบิน ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ และฝ่ายช่าง ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้นประมาณ 4,500 คน ซึ่งต้องทำการฉีด 2 ครั้ง โดยจะเริ่มทยอยฉีดเข็มแรกระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2564 และจะนัดฉีดเข็มที่ 2 หลังจากฉีดเข็มแรกเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ การบินไทยยังได้จัดทีมพนักงานจิตอาสาเพื่อไปประจำตามจุดคัดกรองของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องโรคโควิด-19 ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นระยะเวลา 2 เดือน

พร้อมกันนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่มีการแพร่กระจายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในขณะนี้ บริษัท การบินไทยฯ มีความห่วงใยความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของพนักงานและผู้ใช้บริการ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ TG ร่วมใจ ป้องกันภัยโควิด” มีภารกิจหลักในการติดตามและเฝ้าระวัง

โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสุขอนามัยของพนักงานให้เป็นไปอย่างเคร่งครัด อาทิ สวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งมาตรการทำความสะอาด โดยพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อภายในสถานประกอบการของการบินไทย เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโรคระบาดดังกล่าว โดยคำนึงถึงการให้บริการและความปลอดภัยสูงสุด

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะให้ผู้ปฏิบัติงานดูแลตนเองและสถานประกอบการ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม และผ่านพ้นช่วงวิกฤตการณ์นี้ไปได้ด้วยดี

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/4/2564

"ม33เรารักกัน" เงินเข้างวดสุดท้าย-กลุ่มทบทวนสิทธิผ่านได้ครบรับสงกรานต์

12 เม.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ "ม33เรารักกัน" ว่าหลังจากที่วันนี้ (12 เม.ย. 2564) เป็นวันที่ได้มีการโอนเงินงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของโครงการ จำนวน 1,000 บาท จบครบ 4,000 บาท ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับสิทธิ ส่วนกรณีผู้ที่ทบทวนสิทธิผ่านแล้วในวันนี้ก็จะได้รับเงินครบ 4,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" เช่นเดียวกัน เพื่อให้พี่น้องแรงงานสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โครงการ "ม33เรารักกัน" ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท และให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์www.ม33เรารักกัhttp://xn--q3c.com/ ถือว่าได้ประโยชน์กับผู้ประกันตนหลายกลุ่ม

ซึ่งพวกเขายังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเยียวยามาก่อน แม้ว่าเงิน 4,000 บาทจะดูเหมือนไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้มาก เนื่องจากเขาสามารถนำเงินที่ได้รับสัปดาห์ละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท ไปจ่ายใช้ในสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เงินส่วนนี้สามารถนำไปใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างร้านธงฟ้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ รวมถึงช่วยพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยอย่างหาบเร่แผงลอยได้ด้วยก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในหลายรอบและส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวตามมาอีกด้วย

ทั้งนี้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับเงินจากโครงการ "ม33เรารักกัน" สามารถนำเงินใน แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้ตั้งแต่เวลา 06.00 - 23.00 น.ของทุกวัน ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 เท่านั้น

ที่มา: คมชัดลึก, 12/4/2564

"การบินไทย" ประกาศผลการกลั่นกรองพนักงานสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ เผยลอตแรกมีคนยื่น 1.35 หมื่นคน ผ่านการคัดเลือก 9.3 พันคน

9 เม.ย. 2564 บริษัท การบินไทย ประกาศผลการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างใหม่ของบริษัทการบินไทย โดยจากเมื่อเดือน มี.ค. 2564 การบินไทย มีพนักงานประจำทั้งหมด 17,098 คน สมัครเข้าโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (Mutual Separation Plan: MSP) ประมาณ 3,000 คน เหลือพนักงาน 14,159 คน โดยมีผู้แสดงความจำนงเข้ากระบวนการกลั่นกรองทั้งสิ้น 13,554 คน ซึ่งผ่านการกลั่นกรองรอบแรก และประกาศผลเมื่อวันที่ 8 เม.ย. จำนวน 9,304 คน โดยจะมีเอกสาร เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ช่วงกลางเดือน เม.ย. 2564

บริษัท การบินไทย ได้เปิดโอกาสให้พนักงาน ทั้งในกลุ่มที่ได้รับการกลั่นกรองและไม่ได้รับการกลั่นกรองในรอบแรก หากมีความประสงค์สละสิทธิ์ สามารถดำเนินการได้ โดยกลุ่มพนักงานที่ผ่านการกลั่นกรองรองแรก แต่ต้องการสละสิทธิ์ ให้เข้าระบบ TG Application เลือก MSP B/C ภายในเวลา 23.59 น.ของวันที่ 10 เม.ย. 2564 โดยระบบจะทำการยกเลิกตำแหน่งที่ได้แสดงความประสงค์สละสิทธิ์โดยอัตโนมัติ ส่วนกลุ่มพนักงานที่ไม่ได้รับการกลั่นกรองในรอบที่ 1 สามารถตัดสินใจเข้าใน MSP B/C ในวันที่ 12-29 เม.ย. 2564

ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย เตรียมเปิดให้สมัครเข้ากระบวนการกลุ่นกรองรอบที่ 2 หลังจากมีผู้สละสิทธิ์ และหน่วยงานกลางได้รวบรวมตำแหน่งได้เรียบร้อย ในวันที่ 12-16 เม.ย. 2564 โดยจะเปิดในตำแหน่งงานที่ไม่มีผู้สมัคร/ไม่มีผู้เหมาะสม ประมาณ 1,000 อัตรา ตำแหน่งงานที่อาจมีผู้สละสิทธิ์ ซึ่งจะรอข้อมูลหลังวันที่ 10 เม.ย. 2564 และตำแหน่งงานที่เปิดเพิ่ม 543 อัตราแบ่งเป็น พนักงานประจำ 322 อัตรา และพนักงานชั่วคราว 221 อัตรา ระยะเวลาจ้าง 1 ปี

จากนั้นคณะอนุกรรมการ จะดำเนินการกลั่นกรอง ช่วงวันที่ 19-23 เม.ย. 2564 ประกาศผลกลั่นกรองครั้งที่ 2 วันที่ 28 เม.ย. 2564 และเปิดให้สละสิทธิ์ในรอบที่ 2 ถึงวันที่ 29 เม.ย. 2564 และจะปะกาศรายชื่อ สุดท้ายและเริ่มทำงานในโครงสร้างใหม่ วันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยในระหว่างที่ดำเนินการรอบที่ 2 นั้น พนักงานยังสามารถสมัคร MSP B/C ได้

ที่มา: TNN, 9/4/2564

ม.มหิดล วิจัยเชิงนโยบาย ปรับนิยามผู้สูงอายุ-ขยายอายุแรงงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (IPSR) เปิดเผยว่า ผลจากงานวิจัยของสถาบัน IPSR พบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน มีจำนวนถึงประมาณ 12 ล้านคน หรือ 18% ของประชากรทั้งหมด มีอัตราการทำงานเพียงประมาณ 1 ใน 3 โดยมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ หลังเกษียณ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไปในวัยผู้สูงอายุ ตามการนิยามผู้สูงอายุของไทย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากมโนคติที่ว่า เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ถึงเวลาหยุดทำงานมาใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่กับลูกหลาน โดยมีรายได้หลักเพียงจากทรัพย์สินที่ตนออมไว้ และการเกื้อกูลจากลูกหลานในครอบครัว หรือเงินบำเหน็จบำนาญ เฉพาะในกลุ่มข้าราชการ พนักงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ประกันตน ประกันสังคมที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก

แต่ด้วยภาวะทางประชากรที่เปลี่ยนไป พบว่าประชากรไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานิยมเป็นโสด แต่งงานและมีลูกกันน้อยลง จนส่งผลให้มีจำนวนอัตราการเกิดที่ต่ำลงด้วย จึงทำให้ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมั่นคง ด้วยเพียงการเกื้อหนุนจากลูกหลานเป็นหลักเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่า การใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีความมั่นคงทางรายได้ จะทำให้เกิดพลังชีวิต หรือ Active ลดลง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตอีกด้วย

ในจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย เพียง 10% เป็นแรงงานในภาครัฐ การขยายอายุเกษียณควรขึ้นอยู่กับบริบทการทำงานในแต่ละกลุ่มประชากร จะแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะงาน โดยที่ผ่านมาพบว่า มีข้าราชการเพียง 2 กลุ่ม ที่ได้รับการขยายอายุเกษียณ คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย และข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งได้รับความมั่นคงจากระบบบำเหน็จ-บำนาญ นอกจากนั้น อยู่ในภาคเอกชนซึ่งได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม และที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองการทำงานในรูปแบบใดๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว และแรงงานภาคเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในสัดส่วนจำนวนมากในปัจจุบัน

จากการวิจัยประชากรในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้ให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย เพื่อให้มีการปรับนิยามผู้สูงอายุ กำหนดกลุ่มเป้าหมายของการขยายอายุเกษียณ และการให้การคุ้มครองการทำงานที่ชัดเจน จากข้อมูลทางด้านสุขภาพพบว่า กลุ่มประชากรที่อยู่ในวัย 60 - 64 ปียังคงมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง ตลอดจนมีความพร้อมทางด้านสติปัญญา และมากด้วยประสบการณ์ ถือเป็น Active Aging ซึ่งมีศักยภาพที่จะทำงานตามเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต่อไปได้

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 9/4/2564

กสร. ชี้แจงประเด็นดัง “รปภ. ถูกเลิกจ้างเนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง”

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงประเด็นพนักงานรักษาความปลอดภัยพ้นสภาพการจ้างงานทันทีโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่ใช้คุ้มครองดูแลสิทธิและหน้าที่ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง การที่ลูกจ้างสอบถามค่าแรงของตนเองในการทำงานในวันหยุดนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่นายจ้าง ไม่มีเหตุอันสมควรที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง ตามมาตรา 17/1 และอาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ในส่วนของค่าชดเชย เนื่องจากลูกจ้างยังทำงานติดต่อกันไม่ครบ 120 วัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ตามมาตรา 118 และข้อสงสัยที่ว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเป็น 2 เท่า ช่วงวันหยุดสงกรานต์ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ลูกจ้างทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายวัน รายเดือน หรืออยู่ระหว่างการทดลองงาน มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีที่นายจ้างประกาศกำหนดไว้ ตามมาตรา 56 (2) หากนายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดดังกล่าว ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มอีก 1 เท่า ตามมาตรา 62 (1) รวมกับค่าจ้างที่ต้องได้อยู่แล้วเป็น 2 เท่า

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นที่บริษัทอ้างถึงระเบียบข้อบังคับในการทำงานว่า ต้องทำงานครบ 120 วัน จึงจะได้รับค่าจ้างเป็น 2 เท่านั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้ในข้อกฎหมายแต่อย่างใด ข้อบังคับในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จากกรณีนี้ทั้งตัวลูกจ้างและนายจ้างอาจไม่เข้าใจข้อกฎหมายที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในทางปฏิบัติ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยด้านกฎหมายแรงงาน หรือต้องการขอคำปรึกษา หรือลูกจ้างประสงค์ยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อพนักงานตรวจแรงงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 และช่องทางยื่นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ eservice.labour.go.th

ที่มา: สยามรัฐ, 8/4/2564

เตือนนายจ้างรถโดยสารสาธารณะ ห้ามให้ลูกจ้างขับรถเกินเวลา ช่วงสงกรานต์เกิดอุบัติเหตุเอาผิดนายจ้างโทษสูงสุด

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันพบว่าเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินมิอาจประเมินค่าได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ขับรถด้วยความเร็ว ประมาท พักผ่อนน้อย และเสพยา

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 10-15 เม.ย. 2564 รวม 6 วัน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้พนักงานขับรถต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงฝากเตือนไปยังนายจ้าง สถานประกอบกิจการประเภทขนส่งทางบกกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน และหากพบไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินคดีในอัตราโทษสูงสุด

ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้าง โดยทำงานได้ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หากทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หลังจากที่ลูกจ้างขับรถมาแล้ว 4 ชั่วโมง ต้องมีเวลาพักผ่อนติดต่อกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และในวันถัดไปห้ามให้ลูกจ้างเริ่มทำงานก่อนครบเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำงานของวันที่ล่วงมาแล้ว ทั้งนี้ งานในกิจการประเภทขนส่งทางบก โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ มีสติตลอดเวลา ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะขับรถ

ที่มา: คมชัดลึก 7/4/2564

ขยายเวลาตรวจโควิด-เก็บอัตลักษณ์แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ถึง 16 มิ.ย. 2564

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

โดยคนต่างด้าวต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมถึงการตรวจหาโรคโควิด-19 และดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายนนี้ พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว รวมถึงจำกัดจำนวนผู้รับบริการในการตรวจสุขภาพและจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลในแต่ละวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด

น.ส.รัชดากล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของคนต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงนายจ้างและสถานประกอบการมีแรงงานในการดำเนินกิจการต่อไปได้ ครม.จึงมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) เป็นภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 จากเดิมที่ต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เม.ย. นี้

นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 พร้อมกันทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ณ วันที่ 5 เม.ย. 2564 มีคนต่างด้าวตรวจหาเชื้อโควิด-19 และขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพแล้วประมาณ 170,000 คน และคนต่างด้าวที่ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้วประมาณ 422,000 คน จากจำนวนคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ทั้งหมด 654,864 คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/4/2564

เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน เอื้อผู้ประกันตน ม.39 กว่า 2 แสนคนใช้สิทธิประกันสังคมต่อเนื่อง

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนและการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2562 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 หากประสงค์อยู่ในระบบประสังคมต่อไป ให้แสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2564

2.ขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งประจำงวดเดือน มี.ค. 2563 ถึงงวดเดือน พ.ค. 2564 ให้นำส่งภายในวันที่ 15 มิ.ย. 2564

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะทำให้สามารถรักษาสถานภาพการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคมได้ประมาณ 207,700 คน ทำให้มีหลักประกันด้านสุขภาพผ่านสิทธิประโยชน์ประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ไทยโพสต์, 7/4/2564

แรงงานพม่านับพันรวมตัวประท้วง เข้าใจผิดคิดว่าถูกนายจ้างกลั่นแกล้งไม่ให้กลับบ้านเกิด

เมื่อคืนที่วันที่ 6 เม.ย. 2564 พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีแสง ผกก.สภ.คอหงส์ รับแจ้งเกิดเหตุชุลมุนขึ้นในบริเวณที่พักคนงานแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นคนงานของบริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของภาคใต้ ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย เขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

โดยจุดที่แรงงานชาวพม่ารวมตัวกันอยู่บริเวณภายในที่พักคนงาน ซึ่งตั้งอยู่ในซอยด้านหลังบริษัท โดยมีแรงงานชาวพม่ามากกว่า 1 พันคน ต่างลุกฮือและอยู่ในอาการไม่พอใจ และส่งเสียงตะโกนเป็นระยะ หลังจากที่เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (6 เม.ย.) มีแรงงานชาวพม่าที่ขอลาออก และกำลังจะเดินทางกลับประเทศถูกควบคุมตัว จนเกิดความโกลาหลกันตามมา และทางบริษัทต้องรีบโทร.แจ้งตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาช่วยระงับเหตุไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลายไปมากกว่านี้

ต่อมา ทางตำรวจ ทั้ง พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา พร้อมด้วย พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา และ พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีแสง ผกก.สภ.คอหงส์ ได้นำกำลังตำรวจงานป้องกันปราบปราม และชุดควบคุมฝูงชน ทั้งของ สภ.คอหงส์ และ สภ.หาดใหญ่ รวมทั้งฝ่ายปกครองอำเภอหาดใหญ่เกือบ 100 นาย เข้ามาควบคุมพื้นที่ และเจรจากับทางกลุ่มแรงงานชาวพม่า พร้อมกับขอให้ควบคุมสติอารมณ์ และหันมาเจรจาหาทางออกร่วมกัน

พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา เผยว่า จากการสอบถามข้อมูลกับทั้งทางผู้แทนของบริษัท และทางกลุ่มแรงงานชาวพม่า ทราบว่า ที่บริษัทแห่งนี้มีแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และทำงานมานานหลายปี ได้ขอลาออกจำนวน 20 คน โดยให้เหตุผลว่าต้องการกลับบ้านที่ประเทศพม่า เนื่องจากมีญาติพี่น้องบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และเป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ของญาติพี่น้องที่บ้านเกิดมาก พร้อมกับบอกว่ามีการติดต่อกับทางนายหน้าเอาไว้แล้ว

จากนั้นในช่วงเย็นจึงได้พากันหอบข้าวของ และทยอยกันเดินทางไปรอนายหน้าที่จุดนัดพบในพื้นที่ ต.ทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ และมีคนงานจากที่อื่นบางส่วนมาสมทบด้วย แต่ปรากฏว่าจุดที่ไปรอนัดพบนายหน้าเป็นพื้นที่กลางชุมชน และชาวบ้านเห็นแรงงานชาวพม่ามารวมตัวกันมากผิดปกติ จึงรีบแจ้งทั้งตำรวจ และทางอำเภอให้ช่วยเข้ามาตรวจสอบ ก่อนที่จะมีการควบคุมตัว และติดต่อกับทางบริษัทให้ไปรับตัวกลับในเวลาต่อมา

แต่แรงงานชาวพม่าทั้ง 20 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเข้าใจผิด และคิดว่าทางบริษัทกลั่นแกล้งไม่ให้พวกตนเดินทางกลับบ้านเกิด และแจ้งให้ตำรวจมาจับ จึงเกิดการปลุกปั่นกันขึ้นในที่พักคนงานที่มีแรงงานชาวชาวพม่าอยู่มากกว่า 1 พันคน จนหวิดที่จะเกิดการจลาจลขึ้น

โดยภายหลังเหตุการณ์ยืดเยื้ออยู่นานเกือบ 4 ชั่วโมง ก็ได้ข้อยุติในช่วงประมาณ 01.00 น. ซึ่งได้มีการพยายามอธิบายเหตุผลให้ทางแรงงานชาวพม่าได้เข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านยังคงปิดกั้นพรมแดน และไม่สามารถเดินทางได้ในขณะนี้ พร้อมกับชี้แจงด้วยว่าการลักลอบเดินทางผ่านแดนโดยผ่านทางนายหน้านั้นผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่การผ่านแดนแบบปกติถูกกฎหมาย และเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยในครั้งนี้พบว่านายหน้าเรียกเก็บเงินค่าเดินทางคนละ 5,700 บาท และมีการเคลียร์ติดต่อขอคืนเงินกลับมาให้คนละ 5,000 บาท

ด้านผู้แทนของบริษัทเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิด แต่ยังโชคดีที่ไม่เกิดเหตุความรุนแรงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์ทั้งหมดได้ยุติกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่มีทรัพย์สินเสียหาย โดยหลังจากนี้จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องการสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางข้ามจังหวัด และเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด รวมทั้งการใช้ชีวิต และการทำงานที่ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งกลุ่มแรงงานจำนวนไม่น้อยยังไม่ค่อยเข้าใจ และคิดว่าเป็นการบีบบังคับ ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าได้ดูแลแรงงานทุกคนเป็นอย่างดี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/4/2564

สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ขอให้ตรวจสอบคำสั่งเรื่องโครงสร้างองค์กรและการเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน

สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) ทำหนังสือถึง “อธิบดี” กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้พิจารณา 3 ประเด็นข้อสงสัยในการลงนามคำสั่งของ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ว่าด้วยเรื่องโครงสร้าองค์กร”การบินไทย” เป็นไปตามข้อกำหนด “แผนฟื้นฟู”ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางหรือไม่

รวมทั้งคำสั่งการเปลี่ยนสภาพการแจ้งงานเป็นไปตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่

เอกสารระบุว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ให้ฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ และตั๋งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปียะสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน และ “ผู้ทำแผน” ได้นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เสนอต่อเจ้าพนักงนพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564

โดยสภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) มีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการตามแผนพื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ของ “ผู้ทำแผน” จึงนำเรียนมายังท่านอธิบดีกรมสวัสดิการแรงงาน เพื่อขอความอนุเคราะห์วินิจฉัยข้อสงสัย

ประเด็นแรกว่า นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 หรือไม่ อย่างไร ในการลงนาม

1. คำสั่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 003/2564 เรื่อง โครงสร้างองค์กรบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

2. ประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาซน) ที่ 012/2564 เรื่อง การแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564

3. ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2564

4. ข้อกำหนดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2564

ประเด็นที่ 2 ในการลงนามในประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาซน) ที่ 012/2564 ให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ 3 ในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ หากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานวินิจฉัยประเด็นข้อสงสัยแล้วพบว่านายชาญศิลป์ รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ดำเนินการออกประกาศ คำสั่งเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงานไปจากเดิม โดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ และ/หรือมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และ/หรือมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541

สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) ขอความอนุเคราะห์ให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกคำสั่งทางปกครองให้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในแผนพื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2564 และให้ปฏิบัติเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 รวมทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/4/2564

แรงงานเมียนมาที่ถูกกักตัว ตม.ระนอง ประท้วงเรียกร้องขอส่งตัวกลับบ้าน

เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นที่อาคารกักตัวชั่วคราว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดระนอง เมื่อมีแรงงานชาวเมียนมา ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายรวม 284 คน ได้ยึดห้องขังและปิดทางเข้าออกอาคาร จากนั้นก็ได้โผล่หน้าออกมาทางหน้าต่างทั้งชั้น 2 3 และ 4 พร้อมชูป้ายข้อความ เป็นภาษาเมียนมา และภาษาไทย ระบุว่า “เราอยากกลับบ้าน” พร้อมส่งเสียงตะโกน โห่ร้อง ขอส่งตัวกลับบ้าน เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

โดยแรงงานชาวเมียนมากกว่า 284 คน ต่างส่งเสียงดังอื้ออึงตลอดเวลา พร้อมร้องขอให้ จนท.ฝ่ายไทยติดต่อทูตแรงงานชาวเมียนมา ให้เดินทางมารับ ข้อเรียกร้องเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลเมียนมา รวมทั้งขอพบ จนท.ระดับสูงของจังหวัดระนองเพื่อแจ้งความต้องการของแรงงานชาวเมียนมาที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้

ขณะความเคลื่อนไหวของ จนท.ฝ่ายไทย พบว่ามีการส่งตัวแทนอยู่ระหว่างเข้าไปเจรจากับชาวเมียนมา เป็นระยะแต่ไม่เป็นผล เนื่องจากชาวเมียนมาซึ่งอยู่ในอาการเครียดเนื่องจากถูกกักขังมานานหลายเดือน รอการส่งกลับแต่ยังไม่สามารถผลักดันออกไปได้ เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ขณะที่ ทางฝั่ง จ.เกาะสอง ประเทศเมียนมา ก็ไม่พร้อมที่รับตัวกลับ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่

เบื้องต้นทางจังหวัดระนอง ระดมกำลัง เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ร่วม 50 นาย เข้าตรึงพื้นที่จุดเกิดเหตุแล้ว แต่ทางการไทยไม่สามารถทำอะไรได้มากคงแต่ปล่อยให้ชาวเมียนมาตะโกนกันต่อไปเรื่อย ๆ หากชาวเมียนมาอยากพูดคุยด้วยเหตุผล ก็ให้เลือกตัวแทนลงมาคุยกับเจ้าหน้าที่ซึ่งพร้อมที่จะคุยและอธิบายทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ชาวเมียนมาได้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

ที่มา: One31, 5/4/2564

สภาฯ นายจ้างชี้จ้างงานเริ่มฟื้น เร่งฉีดวัคซีน-ดันคนละครึ่งเฟส 3

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของไทยในเดือนต.ค.63 ถือเป็นจุดต่ำสุด และขณะนี้มีสัญญาณจ้างงานเริ่มทยอยฟื้นตัวมากขึ้น โดยมาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่ 1. ศก.โลกเริ่มฟื้นตัว จากการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 และเร่งอัดเงินเพื่อฟื้นฟูศก. เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 2. การส่งออกของไทยเดือนก.พ.64 เริ่มเป็นบวก1.78% แม้ 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) จะติดลบ แต่พบว่ามีการนำเข้าโดยเฉพาะเครื่องจักรโต 2.39% วัตถุดิบ 24.4% บ่งชี้สต็อกสินค้าเริ่มหมดลงทำให้ภาคผลิตเริ่มกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น 3. มาตรการกระตุ้นศก.ของรัฐ ที่มีส่วนช่วยหนุนกำลังซื้อคนในประเทศ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนสูง ซึ่งขอสนับสนุนภาครัฐที่จะขยายไปสู่เฟส 3

"3 ปัจจัยดังกล่าวตัวชี้วัดว่า การจ้างงานจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมองว่ามาตรการกระตุ้นศก.ในประเทศของไทยยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่ประชาชนตอบรับมาก เพราะเข้าถึงเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ส่วนโครงการอื่นๆ ก็ถือว่าดี แต่หากเป็นไปได้ชื่อโครงการอย่ามีมาก ประชาชนจะได้ไม่สับสน ซึ่งมาตรการกระตุ้นศก. ต้องทำควบคู่ไปกับการวางไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนไทยที่ชัดเจนด้วย" นายธนิต กล่าว และว่า รัฐบาลไม่ควรจะปิดกั้น รพ.เอกชน หรือภาคเอกชนอื่นๆ ที่มีศักยภาพนำเข้ามาได้ และไม่ไปแย่งโควตารัฐ โดยผ่านมาตรฐานการดูแลจาก อย. เพื่อช่วยกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น เพราะภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะจ่ายเงินเองในการดูแลพนักงานเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้เร็ว

สำหรับอัตราการว่างงานของไทย ปัจจุบันหากยึดตัวเลขรัฐ จะว่างงานเพียง 1.5% แต่หากยึดตัวเลขเอกชนจะอยู่ระดับ 1.2-1.5 ล้านคนและ ยังไม่รวมเด็กจบใหม่ ที่จะเข้ามาอีกราว 5 แสนคน โดยหากไปพิจารณาการสมัครงานในเว็บไซต์จ๊อบไทย (JOBTHAI)ความต้องการงานก็ยังกว่า 1.8 ล้านคน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราว่างงานของไทย ก็ยังคงมีอยู่พอสมควร แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานยังคงไม่ได้กลับไปยังจุดเดิมก่อนที่จะมีโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคการภาคท่องเที่ยว ที่ในปี 62 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 40 ล้านคน ขณะที่ปี 63 ลดเหลือเพียง 6.5 ล้านคนและปีนี้ คาดว่าจะยังมีเพียง 3-4 ล้านคนเท่านั้น จึงทำให้แรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการยังคงไม่สามารถกลับมาได้มากนัก เพราะแต่ละประเทศ จะยังไม่เปิดให้คนของตนเองเดินทางมากนัก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/4/2564



เรื่องที่ได้รับความนิยม