Monday, May 31, 2021

สถานการณ์แรงงาน ประจำเดือน พ.ค. 2564




สำรวจสุขภาพจิตช่วง COVID-19 ระลอกใหม่ พบแรงงานเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเครียด ซึมเศร้า

31 พ.ค. 2564 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลสำรวจสุขภาพจิตในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (โควิด-19) ระลอกใหม่ พบว่าคนไทยปรับตัวรับมือสถานการณ์ได้ดีมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพลังใจจากครอบครัวและคนใกล้ชิดยังเป็นปัจจัยสำคัญ และขณะนี้พบความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงในกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างขับรถสาธารณะ จึงจัดเวทีเสวนาระหว่างกรมสุขภาพจิตและผู้แทนกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบเพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มวัยแรงงาน และบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการติดตามผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในประเทศไทย ในภาพรวมของผลสำรวจ ความเครียด อาการซึมเศร้า ความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง มีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 มากขึ้น แต่การปรับตัวสูงขึ้นของปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของปี 2564 ยังไม่ถึงระดับเดียวกับช่วงที่มีการระบาดในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนส่วนหนึ่งมีพลังใจที่ดีมากขึ้น เริ่มมีการปรับตัวรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดีมากขึ้น

“และเมื่อสำรวจพลังทางใจของคนไทยปี 2564 พบว่าปัจจัยด้านพลังใจที่คนไทยมีอยู่มากที่สุด คือ การมีคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดเป็นกำลังใจ รองลงมาเป็นการมองว่าการแก้ปัญหาทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น และตามมาด้วยความสามารถในการจัดการปัญหาได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ จากผลสำรวจยังพบอีกว่า สำหรับคนที่มีพลังใจลดน้อยลงจะทำให้รู้สึกว่าปัญหายากลำบากมากขึ้นและกังวลว่าจะเอาชนะปัญหานั้นไม่ได้ นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตได้นำผลสำรวจล่าสุดมาจำแนกตามอาชีพ พบว่าระดับความเครียดมาก-มากที่สุด ในรายอาชีพกลุ่มรับจ้างขับรถสาธารณะมีอัตราสูงสุด (ร้อยละ 14.8) รองลงมาเป็น กลุ่มว่างงาน (ร้อยละ 8.8) และบุคลากรสาธารณสุข (ร้อยละ 6) ตามลำดับ ซึ่งอาชีพกลุ่มรับจ้างขับรถสาธารณะนี้ มีทั้งอาการซึมเศร้า (ระดับค่อนข้างมาก-มาก ที่ร้อยละ 7.4) และความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง (ระดับค่อนข้างบ่อย-เกือบทุกวัน ที่ร้อยละ 3.7) ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในทุกกลุ่มอาชีพอีกด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ผลกระทบที่สำคัญที่สังเกตได้จากผลรายงานล่าสุด คือ ผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่มีต่อกลุ่มแรงงาน จึงเป็นที่มาของการประชุมหารือกับผู้แทนกลุ่มแรงงานในวันนี้ ที่จะช่วยทำให้กรมสุขภาพจิตสามารถดำเนินงานได้ตรงตามความต้องการของกลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสื่อสารเรื่องการสร้างวัคซีนใจในองค์กรของวัยทำงาน เน้นการสร้าง “safe calm hope care” ในชุมชน องค์กร และสังคม จะช่วยให้ประชาชนมีมุมมองปัญหาเปลี่ยนไปในทางบวกมากขึ้น การที่แรงงานไทยมีสุขภาพจิตดีจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติผ่านวิกฤตต่อไปได้

การจัดเวทีเสวนาในวันนี้ ประกอบด้วย กรมสุขภาพจิต นายมนัส โกศล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), ประธานสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ, ผู้แทนบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย จ.สมุทรปราการ, ผู้แทนสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย, ผู้แทนสหภาพแรงงาน วายเอ็มพี กรุ๊ป จ.ชลบุรี, กลุ่มลูกจ้างไรเดอร์จากแอพพลิเคชันลาลามูฟ, ผู้แทนสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย, ผู้แทนหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย, ผู้แทนมูลนิธิรักษ์ไทย, ผู้แทนมูลนิธิเพื่อนหญิง, ผู้แทนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, ผู้แทนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และผู้แทนสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ได้ทำความเข้าใจร่วมกันถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทยโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานร่วมกันวางแผนสนับสนุนโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานในระบบภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สำนักสร้างสรรค์และโอกาส ซึ่งทำงานกับแรงงานในสถานประกอบการจำนวน 13 แห่ง ในพื้นที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม และ กรุงเทพมหานคร และวางแผนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีและลดความสูญเสียจากปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มวัยแรงงานของประเทศไทย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 31/5/2564

ก.แรงงานลุยตรวจโควิดเชิงรุกแคมป์คนงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแคมป์คนงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวจึงสั่งการให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกแก่แรงงานในสถานประกอบการและแคมป์คนงานในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จังหวัดปทุมธานี เริ่มตรวจโควิด – 19 เชิงรุกในสถานประกอบการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2564 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไทสัน ลูกจ้างจำนวน 1,948 คน บริษัทโชคชัย เอ็นจิเนียริ่ง ลูกจ้างจำนวน 825 คน และ บริษัทเคลแมกซ์ แมซินเนอรี่ ลูกจ้างจำนวน 136 คน โดยมีโรงพยาบาลการุญเวช ปทุมธานี โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม เป็นผู้ดำเนินการตรวจ

ทางด้านจังหวัดนนทบุรี มีแผนดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการะยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2564 เป้าหมายสถานประกอบการจำนวน 160 แห่ง ลูกจ้าง 11,140 คน และตรวจโควิด-19 เชิงรุกในแคมป์คนงาน อีกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ชิโนทัย ลูกจ้างจำนวน 759 คน และบริษัท นวรัตน์ พัฒนาการ ลูกจ้างจำนวน 454 คน โดยมีโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นเนล โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม เป็นผู้ดำเนินการตรวจกรณีตรวจพบเชื้อจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การตรวจโควิด-19 เชิงรุกดังกล่าวจะเป็นการชะลอการแพร่กระจายของเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงที่รอการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานในสถานประกอบการอีกด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 31/5/2564

ศบค.มท.แจ้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ คุมเข้มแคมป์คนงาน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดพิจารณาดำเนินการนำมาตรการด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในแคมป์คนงานก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร อาทิ มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามเขตภายในจังหวัดที่กำหนด ให้มีการแจ้งล่วงหน้าไปยังปลายทางไม่น้อยกว่า 7 วัน การจัดทำบัญชีหรือทะเบียนแรงงานที่มีการเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวและควบคุมโรค มาพัฒนารายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับจังหวัดอื่นๆนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/5/2564

ยอดรวมพนักงาน ขสมก. ติดเชื้อโควิดทะลุ 100 แล้ว

29 พ.ค. 2564 คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. แจ้งว่าวันนี้พบพนักงานขสมก. ติดเชื้อโควิด-19 อีกจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1. พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 47 เพศหญิง อายุ 45 ปี 2. พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 136 เพศหญิง อายุ 51 ปี

3. พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 136 เพศหญิง อายุ 55 ปี 4. พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 47 เพศหญิง อายุ 28 ปี และ5. พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 72 เพศชาย อายุ 51 ปี ส่งผลให้ ณ วันที่ 29 พ.ค.2564 ขสมก. มียอดสะสมพนักงานติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 102 คนแล้ว

ที่มา: ข่าวสด, 29/5/2564

แรงงานเมียนมานับพัน โวย รพ.สนามแคลคอมพ์ ไฟดับ-ร้อนอบอ้าว

28 พ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อคืนวันที่ 27 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมาบรรยากาศหน้าอาคาร 11 ภายในโรงงานแคลคอมพ์ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี มีกลุ่มแรงงานที่ชิดเชื้อโควิด 19 ซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมากว่า 1,000 คน ลงมาประท้วงหลังจากเกิดความไม่พอใจเนื่องจากไฟดับทำให้การเป็นอยู่ภายในตัวอาคารที่มีอากาศร้อนอบอ้าวจนอยู่ไม่ได้ฝ่าย เจ้าหน้าที่ นำโดย นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอเขาย้อย ทหารและตำรวจ ต้องตรึงกำลังเข้าช่วยระงับเหตุและเข้าพูดคุยเจรจา

และขอความช่วยเหลือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคใต้) เข้าช่วยสนับสนุนรถโมบายในการดำเนินการให้กระแสไฟฟ้ามีเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยที่พักอาศัย

บรรยากาศล่าสุด วันที่ 28 พ.ค. 2564 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีเพียงสื่อจากหลายสำนักที่มาปักหลักในพื้นที่ เพื่อรอฟังข้อมูลสรุปของจังหวัดว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยส่วนสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้กระแสไฟฟ้าจ่ายไฟไม่เพียงพอเนื่องจากผู้เข้าพักรักษาตัวได้นำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนตัวมีทั้งกะทะไฟฟ้า พัดลม กาต้มน้ำร้อน มาใช้

สำหรับการประชุมวันนี้ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมส่วนเกี่ยวข้องได้เดินทางมาที่โรงงานแคลคอมพ์ เพื่อเข้าประชุมหารือในการวางมาตรการและหาวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นอีก ที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประชุม

ที่มา: PPTV, 28/5/2564

พิษโควิดระบาดสองปี “ซีพี” เยียวยาพนักงานแล้ว 880 ล้านบาท

27 พ.ค.2564 รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของพนักงาน จากสถานการณ์ดังกล่าว เครือฯ โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร มีความห่วงใยพนักงานทุกคน โดยประกาศนโยบายดูแลพนักงาน อาทิ ไม่เลิกจ้างพนักงาน พร้อมทั้งมีมาตรการให้ความช่วยเหลือพนักงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานและครอบครัว

ทั้งนี้ ในปี 2563 เครือฯ ได้ให้ความช่วยเหลือพนักงานในด้านต่างๆ มูลค่ารวม 624 ล้านบาท แบ่งเป็น สนับสนุนหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ มูลค่ารวม 280 ล้านบาท เงินกู้ฉุกเฉิน 198 ล้านบาท ช่วยเหลือด้านอาหารแก่ครอบครัวพนักงานที่เดือดร้อน 92 ล้านบาท สนับสนุนค่าประกันโควิด-19 จำนวน 21 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลแก่พนักงานที่ป่วยจากโควิด-19 จำนวน 15 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อการศึกษาบุตรพนักงานในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจำนวน 6 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับในปี 2564 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งบริษัทได้ให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลการช่วยเหลือในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 256 ล้านบาท แบ่งเป็น สนับสนุนหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ มูลค่ารวม 171 ล้านบาท เงินกู้ฉุกเฉิน 6 ล้านบาท สนับสนุนอาหาร 11 ล้านบาท สนับสนุนค่าประกันโควิด-19 จำนวน 16 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 15 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อการศึกษาบุตรบุตรพนักงานในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจำนวน จำนวน 1 ล้านบาท เป็นต้น

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 27/5/2564

Apple ประกาศรับสมัครทีมงานด้าน Supply Chain จำนวนมากในประเทศไทย คาดย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาที่ไทย

หลังมีข่าวพบว่า iMac M1 รุ่นใหม่ล่าสุด มีบางโมเดลที่ผลิตมาจากประเทศไทย (Made in Thailand) ซึ่งสร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์กันมาก เนื่องจากเราไม่เคยทราบมาก่อนว่าแอปเปิลมีฐานผลิตบางส่วนอยู่ในไทยด้วย

ล่าสุด (26 พ.ค. 2564) ทีมงาน MacThai ตรวจสอบพบว่า แอปเปิลได้มีการประกาศรับสมัครงานเจ้าหน้าที่ ดูแลด้านการปฏิบัติการและซัพพลายเชน จำนวนมากในประเทศไทย

ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าแอปเปิลต้องการทีมงานที่เข้ามาดูแลการผลิต และการประสานงานกับโรงงานต่างๆ โดยหลายตำแหน่งมีเนื้อหางานที่น่าสนใจ เช่น ประสานงานกับผู้ผลิตและโรงงานต่างๆ, ดูแลเรื่องการควบคุมคุณภาพของสินค้า, ประสานงานระหว่างผู้ผลิตกับทีมงานของแอปเปิล เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามที่กำหนด, ดูแลการจัดการแรงงานในพาร์ทเนอร์ต่างๆ ว่าเป็นไปตามมาตรของบริษัทหรือไม่ และสามารถเดินทางไปได้หลากหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ที่รับสมัครนั้น เดิมทีจะเป็นตำแหน่งที่รับสมัครอยู่ในประเทศจีน หรือประเทศที่แอปเปิลไปตั้งศูนย์การผลิตสินค้า ซึ่งการเปิดรับตำแหน่งระดับนี้ในไทย น่าจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า แอปเปิลน่าจะเริ่มมีการย้ายการผลิตบางส่วนมาในไทยหรือประเทศใกล้เคียง

โดยช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีข่าวว่าแอปเปิลย้ายฐานการผลิต AirPods Max จากประเทศจีน ไปที่เวียดนาม รวมถึง iPhone บางรุ่นเริ่มมีการผลิตที่อินเดีย ซึ่งตอบรับกับกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ที่น่าจะส่งผลให้แอปเปิลต้องเริ่มกระจายความเสี่ยงของฐานการผลิตไปที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ที่มา: MacThai, 26/5/2564

พิธีส่งศพแรงงานไทย 2 รายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลกลับประเทศไทย

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 เวลา 15.30 น. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้จัดพิธีไว้อาลัยและส่งศพนายวีรวัฒน์ การุญบริรักษ์ และนายสิขรินทร์ สงำรัมย์ แรงงานไทยจากนิคมเกษตรกรรม (โมชาฟ) โอฮาด 2 ราย ที่เสียชีวิตจากจรวดโจมตีเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ณ ท่าอากาศยานเบนกูเรียน โดยมีนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ นาย Ziv Bilaus, Director of Liaison Department, นางสาว Dalia Grad-Efrat, Liaison Department, Consular Division กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ผู้แทนจากท่าอากาศยานเบนกูเรียน และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วม

ในโอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมพิธีได้ยืนสงบนิ่งและจุดเทียนไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิต ก่อนที่โลงศพของผู้เสียชีวิตจะถูกลำเลียงไปยังเครื่องบินของสายการบิน El Al เที่ยวบินที่ LY081 ซึ่งเป็นเที่ยวบินอำนวยความสะดวกนำคนไทยในอิสราเอลกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดขึ้น และมีกำหนดออกเดินทางจากท่าอากาศยานเบนกูเรียนเวลา 22.00 น. ของวันที่ 25 พ.ค. 2564 และถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 26 พ.ค. 2564 เวลา 12.30 น. โดยศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายจะถูกนำส่งถึงภูมิลำเนาที่จังหวัดเพชรบูรณ์และบุรีรัมย์ทันทีที่เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

อนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดให้แรงงานจากโมชาฟโอฮาดที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีด้วยจรวดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 จำนวน 18 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 2 รายได้แก่นายจักรี รัตพลทีและนายธนดล ขันธชัย เดินทางกลับประเทศไทยด้วยเที่ยวบินนี้ด้วย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้พบปะกับแรงงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปด้วย

ที่มา: ไทย-อิสราเอล รูปภาพการทำงานคนไทยในอิสราเอล, 26/5/2564

สศช.ชี้ โควิด-19 ทำว่างงานพุ่ง กดดันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 ว่าการจ้างงานในไตรมาสแรกของปีนี้ผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาภาคเกษตรตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภาคเกษตรถือว่าช่วยดูดซับแรงงานจากสาขาอื่นๆได้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เข้ามาทำงานในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวลดลงที่ 0.6% จากผลกระทบการแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 2564

สำหรับการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน สูงกว่าไตรมาสก่อนที่การว่างงานอยู่ที่ 1.83% โดยการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังสะท้อนผ่านชั่วโมงการทำงานรวมต่อสัปดาห์ลดลงเหลือ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องกัน 6 ไตรมาส โดยกลุ่มอาชีพที่มีการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ลดลงต่อเนื่องมากที่สุดคือกลุ่มอาชีพอิสระซึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

นอกจากนี้จำนวนแรงงานที่ว่างงานติดต่อกันมากกว่า 1 ปีแล้วยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 8.1 หมื่นคนในไตรมาสก่อน เป็น 8.85 หมื่นคนในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้

“ทั้งชั่วโมงการทำงานที่ลดลง การเลิกจ้างและการว่างงานที่ยาวนานขึ้น ทำให้เงินออกของแรงงานลดลงเห็นได้จากจำนวนบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 1 แสนบาทเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ สศช.ได้เสนอแนะว่ามีประเด็นเกี่ยวกับแรงงานและสถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทยในปี 2564 ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะแบกรับสถานการณ์นี้ได้อีก 6 เดือนเท่านั้น แรงงานในกลุ่มนี้อาจตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน

“ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้จีดีพีเอสเอ็มอีปรับตัวลดลง 9.1% หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ อย่างรวดเร็ว ธุรกิจฯ อาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน และโอกาสการกลับมาฟื้นตัว อาจใช้เวลานานมากขึ้น กระทบต่อการจ้างงานซึ่งนอกจากมาตรการทางสินเชื่อต้องมีมาตรการในการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมด้วย”

2.ผลกระทบที่จะเกิดจากแรงงานภาคท่องเที่ยว ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิดที่ยาวนานทำให้การกลับมาปกติของภาคการท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลายาวนานมาก ศูนย์วิจัย ด้านการตลาดท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี2569 ส่งผล

กระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน โดยหากแรงงานถูกเลิกจ้างจะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในสาขาเดิมได้ในระยะเวลาอันใกล้ และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งต้องมีมาตรการในการรองรับในส่วนนี้ด้วย

3.ปัญหาความพอเพียงของการจ้างงานที่อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาจบใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายส่งผลต่อการขยายงานเพิ่มในตำแหน่งใหม่ ซึ่งจะกระทบกับนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และ แรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลง อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการนี้อีกประมาณ 1.4 แสนตำแหน่ง ซึ่งเป็นอีกส่วนที่จะต้องเตรียมมาตรการรองรับเช่นกัน

ดนุชา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2564 คาดว่าหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบ ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้

ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย

โดยในปี2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อ สินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริม การจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2563 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDPเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว แม้หนี้ครัวเรือน จะขยายตัวในอัตราที่ช้าลงสะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังระมัดระวังในการก่อหนี้ ด้านความสามารถในการชำระหนี้ ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต้องเฝูาระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาสสี่ ปี 2563 สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก2.91% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/5/2564

การบินไทยเปิดให้พนักงานกลุ่มฟ้าใหม่ 1,000 คน ชิงสมัครกลั่นกรองเข้าโครงสร้าง 158 ตำแหน่งงานชั่วคราว

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่าล่าสุดการบินไทยได้ออกประกาศให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรปัจจุบันปี 2564 ในตำแหน่งงานชั่วคราว รวม 158 ตำแหน่ง (Relaunch for Temporary Positions) โดยระบุว่าตามที่บริษัทได้ดำเนินการพิจารณากลั่นกรองพนักงานที่แสดงความจำนงสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 ครั้งที่3 (Relaunch 3) ไปเรียบร้อยแล้วนั้น

เนื่องจากสายงานต่าง ๆ ยังมีตำแหน่งงานชั่วคราว (Temporary Positions)ตามโครงสร้างองค์กรปัจจุบันที่ว่างอยู่รวม 158 ตำแหน่ง จึงเปิดให้พนักงานกลุ่มฟ้าใหม่ (พนักงานที่เคยแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ทั้ง 3 ครั้ง แต่ไม่ผ่านการกลั่นกรองซึ่งมีกว่า1พันคน) ให้สามารถมาแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองในตำแหน่งงานชั่วคราวนี้ (เฉพาะพนักงานที่ทำงานในไทย)ทั้ง 158 ตำแหน่งงานชั่วคราว ประกอบไปด้วย 1.สายทรัพยากรบุคคล 1 อัตรา 2.สายการเงินและการบัญชี 13 อัตรา 3.สายการพาณิชย์ 58 อัตรา 4.หน่วยธุรกิจการบิน 23 อัตรา และ5.ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร 63 อัตรา โดยเปิดให้แสดงความจำนงระหว่างวันที่24-28พฤษภาคมนี้ ซึ่งพนักงานสามารถเลือกแสดงความจำนง ในตำแหน่งชั่วคราวได้ 2 ตำแหน่ง คือตำแหน่งงานในระดับเดิม หรือตำแหน่งงานที่สูงขึ้นไปจากเดิม 1 ระดับหรือตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าเดิมโดยไม่จำกัดระดับ

ซึ่งบริษัทจะพิจารณาจากตำแหน่งที่พนักงานเลือกในอันดับที่1 ก่อนโดยจะประกาศรายชื่อพนักงานที่ผ่านการกลั่นกรองเพียงตำแหน่งเดียว ในวันที่ 11 มิ.ย. นี้ ถ้าผ่านการคัดเลือกจะเริ่มสภาพการจ้างงานตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2564 นี้เป็นต้นไปอย่างไรก็ตามในกรณีที่พนักงานไม่ผ่านการคัดเลือกในตำแหน่งทั้งหมดที่ได้แสดงความจำนงไว้ และบริษัทฯเห็นว่ายังมีตำแหน่งงานในโครงสร้างว่างอยู่ ประธานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆอาจจะพิจารณาคัดเลือกพนักงานที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในตำแหน่งทั้งหมดที่ได้แสดงความจำนงไว้นี้ เพื่อหาพนักงานคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามหลักเกณฑ์การกลั่นกรอง และกระบวนการแสดงความจำนง Relaunchแหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่าภายหลังการประกาศผลการกลั่นกรอง หากพนักงานยอมรับผลการพิจารณา และต้องการเข้าทำงานในตำแหน่งงานชั่วคราวนี้ พนักงานต้องตกลงยินยอมแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการเสียสละเพื่อองค์กร MSP B Block พิเศษ หรือ C Block พิเศษก่อน เพื่อให้เมื่อการจ้างงานสิ้นสุดลงในตำแหน่งชั่วคราวดังกล่าว พนักงานจะเข้าสู่โครงการMSP B Block พิเศษ หรือ C Block พิเศษทันทีโดยMSP B Block พิเศษ นี้จะแบ่งจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการเป็นรายเดือนเข้าบัญชี 12 งวดในอัตราเท่ากัน งวดแรกกำหนดจ่ายภายในเดือน ก.ย. 2565 และจะจ่ายงวดต่อไปภายในวันที่ 27 ของแต่ละเดือน ส่วน MSP C Block พิเศษ จะแบ่งจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการเป็นรายเดือนเข้าบัญชี 12 งวดในอัตราเท่ากัน งวดแรกกำหนดจ่ายภายในเดือน ธ.ค. 2565 และจะจ่ายงวดต่อไปภายในวันที่ 27 ของแต่ละเดือน

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 26/5/2564

สมาคมสายการบินประเทศไทย นำพนักงาน 7 สายการบิน เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รับการฉีดวัคซีนเพื่อรองรับแผนการเปิดประเทศ

24 พ.ค. 2564 สมาชิกสมาคมสายการบินประเทศไทย ที่ประกอบด้วย 7 สาย ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ,สายการบินไทยแอร์เอเชีย ,สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ , สายการบินไทย สมายล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไทยไลอ้อนแอร์ และ สายการบินไทยเวียตเจ็ต เริ่มทยอยเดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยกลุ่มพนักงานในธุรกิจการบินจะทยอยรับวัคซีนตลอด 4 วัน ตั้งแต่ 24-28 พฤษภาคมนี้ รวมทั้งสิ้น 15,970 คน

สำหรับวันนี้จะเป็นคิวฉีดวัคซีนสายการบินไทยแอร์เอเชียก่อน โดยนายกฤษ พัฒนสาร ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวในฐานะเลขานุการสมาคมสายการบินประเทศไทย ว่าเมื่อพนักงานสายการบินทุกสาย เริ่มได้รับวัคซีน หากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ประกอบกับนโยบายรัฐที่อาจจะมีการกระตุ้นการเดินทางหลังจากนี้ หากสถานการณ์ทุกอย่างค่อย ๆ ดีขึ้น ก็จะทำให้คนเริ่มเดินทางอีกครั้งในช่วงปลายเดือน มิถุนายน 2564 จากนั้นกรกฎาคม 2564 ก็จะเป็นช่วงที่เริ่มเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้าไทยได้ ตามนโยบาย “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์”

“ก็มีในเรื่องของ ภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์ โมเดล ที่ตั้งเป้าว่าจะเปิดประเทศได้ ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม นะครับ โดยที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วไม่ต้องกักตัวสามารถท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ ซึ่งทุกสายการบินก็ดี ก็ได้เตรียมความพร้อมเรื่องนี้ ซึ่งในวันนี้ในเรื่องของการฉีดวัคซีนในกับพนักงานสายการบินทุกท่านทุกคน ก็เป็นหนึ่งในแผนที่จะเตรียมความพร้อมในการที่จะเปิดประเทศ หรือแม้จะทั่งการฟื้นฟูการเดินทางในประเทศอีกครั้งหนึ่งด้วยครับ” นายกฤษ กล่าว

ขณะที่สถานีกลางบางซื่อ วันนี้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าในสังกัดกระทรวงคมนาคมก่อน ซึ่งจะเริ่มฉีดในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ซึ่งการลงทะเบียนในระบบวันนี้จะมีผู้ฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 4,000 คน ในวันพรุ่งนี้ 6,000 คน และในวันพุธอีก 7,000 คน

โดยขั้นตอนการบริการได้แบ่งเป็น 4 จุด ได้แก่ จุดชั่งน้ำหนัก-วัดความดัน จุดพื้นที่ลงทะเบียน จุดฉีดวัคซีน และจุดพักรอสังเกตอาการ ซึ่งสามารถรองรับการฉีดวัคซีน 900 คน/ชั่วโมง หรือเป้าหมาย 1 หมื่นคน/วัน

สำหรับกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เดินทางมาเข้าคิวรับวัคซีนกันเป็นจำนวนมาก หนึ่งในผู้ขับรถแท็กซี่ เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ตนมีความมั่นใจ อยากให้รัฐบาลเร่งฉีดให้ทั่วถึง เพื่อผู้คนจะได้มั่นใจ ออกมาทำงาน ออกมาใช้จ่าย เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้นเสียที

อย่างไรก็ตามวันนี้ยังมีประชาชนที่ไม่ใช่พนักงานด้านการขนส่ง วอล์คอินเข้ามา ซึ่งเจ้าหน้าที่เน้นย้ำว่า ไม่มีการเปิดให้วอล์คอิน จะฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านขนส่งก่อนเท่านั้น ยังไม่มีการเปิดให้กับประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด ประชาชนทั่วไปขอให้รอการแจ้งจากภาครัฐอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดครั้งใหม่

ที่มา: PPTV, 24/5/2564

วอนผู้ประกอบการหยุดขอนำแรงงานเข้า เหตุช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก

24 พ.ค. 2564 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมด่วนศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัดว่า ได้กำชับผู้ประกอบการไม่ให้รับแรงงานเพิ่มเนื่องจากแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมายหากจะต้องการแรงงานเพิ่มตอนนี้ต้องหยุดข้อเสนอไว้ก่อนรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดลดลงก่อน ก็ต้องดูตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอีกครั้ง หากแรงงานขาดแคลนก็ต้องยอมรับสภาพจะทำยังไงได้

ส่วนกรณีรูรั่วตามแนวชายแดนที่พบมีการลักลอบเข้ามาของแรงงาน 3 จุดนั้นมีต้นตอสาเหตุมาจากอะไรนั้นพลเอกประวิตรกล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องของแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายตามเส้นทางธรรมชาติ ก็กำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดูแลถ้าท้องถิ่นกำกับดูแลกันอย่างดีก็ไม่มี

เมื่อถามว่าได้สั่งคาดโทษเจ้าหน้าที่หากพบรู้เห็นเป็นใจนำแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาพลเอกประวิตรกล่าวว่า ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องถูกลงโทษ ดำเนินคดีทางคดีอาญา ส่วนขบวนการที่ลักลอบนำแรงงานเข้ามานั้นพลเอกประวิตรปฏิเสธทันทีว่า ตนจะไปรู้ได้อย่างไรก่อนจะเดินออกจากวงสัมภาษณ์ขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/2564

คุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ในแคมป์คนงาน กำชับทุกเขตกวดขันเข้มข้นตามประกาศ กทม.

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว มีการติดเชื้อต่อเนื่องจากสถานที่เฉพาะกลุ่ม เช่น แคมป์คนงานก่อสร้าง หรือตลาด ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการโรคติดต่อฯ กทม. จึงมีมติเห็นชอบ ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยให้สถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง และสถานประกอบการ call center ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่คณะกรรมการโรคติดต่อฯ กทม.กำหนด ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค 2564 เป็นต้นไปนั้น

กรุงเทพมหานคร ได้มีการสั่งการกำชับให้สำนักงานเขตต่าง ๆ ที่มีแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่กำชับ กวดขัน ให้ผู้ประกอบการ/นายจ้าง ของแคมป์คนงานก่อสร้าง ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้น

สำนักงานเขตหนองจอก จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมแจกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ณ บริเวณแคมป์งานก่อสร้างพื้นที่เขตหนองจอกทั้งหมด

สำนักงานเขตห้วยขวาง ลงพื้นที่ตรวจการปิดแคมป์คนงานชั่วคราว ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มักกะสัน ลงพื้นที่ตรวจสอบการปิดแคมป์คนงานชั่วคราว เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ณ แคมป์คนงาน บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนท์ ถนนกำแพงเพชร 7 แขวงบางกะปิ และบริเวณแคมป์คนงานก่อสร้าง ในพื้นที่แขวงสามเสนนอก และแขวงห้วยขวาง

สำนักงานเขตบางพลัด ลงพื้นที่สอบสวนโรคและแยกกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายเทศกิจ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 31 ลงพื้นที่สอบสวนโรคและแยกกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง พร้อมแนะนำวิธีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในที่พักอาศัย รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง ณ บริษัท 3 พร จำกัด ซ.รุ่งประชา แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด ซึ่งจะดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพื่อรับการตรวจยืนยันครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 พ.ค. 64 เพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานเขตที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ยังได้มีการจัดหน่วยเคลื่อนที่ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เชิงรุก ให้กับประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เขต ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่

สำนักงานเขตบางพลัด ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกและซักประวัติภายในหน่วยเคลื่อนที่ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงสูง ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 31 บริเวณใต้สะพานพระรามแปด (ฝั่งธนบุรี) พร้อมแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด

สำนักงานเขตวังทองหลาง ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้บริหารเขต ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เขตและศูนย์บริการสาธารณสุข 15 และโรงพยาบาลซีจีเอช ในการตรวจคัดกรองเชิงรุก (Swab) สำหรับประชาชนเขตวังทองหลางผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และประชาชนทั่วไป บริเวณศูนย์การค้าโชคชัย 4 ซึ่งมีกำหนดตรวจในวันที่ 23 – 25 พ.ค. 64 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 14.00 น. โดยสามารถรองรับการให้บริการวันละ 500 ราย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/5/2564

ใช้สมุทรสาครโมเดล ตั้ง รพ.สนามในโรงงาน จ.เพชรบุรี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ใช้สมุทรสาครโมเดล ตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน ดูแลลูกจ้างที่ติดโควิด-19 ในสถานประกอบการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งวันนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ลงพื้นที่สถานประกอบการ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี สนับสนุนล่าม 4 คน สื่อสารกับลูกจ้างต่างด้าวที่ติดโควิด-19 เพื่อรับฟังปัญหา สร้างขวัญและกำลังใจให้ลูกจ้างที่ต้องกักตัวรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมมอบเตียงกระดาษ 2,100 เตียง น้ำดื่ม 500 แพ็ก และรถสนับสนุนในการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5 คัน สำหรับใช้ดูแลลูกจ้างที่โรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ

สำหรับจังหวัดเพชรบุรีขณะนี้สถานประกอบการขนาดใหญ่ อำเภอเขาย้อย เก็บตัวอย่างส่งตรวจ (Swab) จำนวน 5,153 คน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 421 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,111 คน เป็นคนไทย 781 คน เมียนมา 1,297 คน กัมพูชา 19 คน อินเดีย 7 คน ลาว 4 คน และจีน 3 คน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/5/2564

แรงงานชาวเมียนมาของโรงงานสยามอินเตอร์กว่า 400 คนประท้วง เหตุไม่ชัดเจนแนวทางการดูและรักษาโควิด-19

ช่วงกลางดึกวันที่ 22 พ.ค. 2564 แรงงานสัญชาติเมียนมาร์ประมาณ 400 คน ของโรงงานแปรรูปอาหารทะเล บริษัทสยามอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตำบลนาทับอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้รวมตัวประท้วง บริเวณแคมป์ที่พักเรียกร้องให้ทาง บ.สยามอินเตอร์ฯ ชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการตรวจคัดกรองหาเชื้อโรคไวรัสโควิด-19

โดยฝ่ายปกครอง ร่วมกับผู้จัดการบริษัทฯได้ ร่วมเจรจาผ่านล่ามชี้แจงให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่าการดำเนินการตรวจหาเชื้อเป็นหน้าที่รับผิดชอบของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะดำเนินการตรวจบุคคลจากข้อมูลการสอบสวนโรคเมื่อผลผู้ใดออกมาเป็นบวกก็ต้องส่งตัวเข้ารับการรักษา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใจว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งผลของการเจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังคำชี้แจงจากแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 23พ.ค. 2564 ที่ห้องประชุมของบริษัทฯ กลุ่มผู้ชุมนุมฯพอใจและแยกย้ายกันกลับที่พัก

โดยโรงงานแห่งนี้นั้นพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 มาตั้งแต่ 30 เม.ย. ต่อเนื่องมาจนถึง 21 พ.ค. รวมจำนวน 91 คน แยกเป็นพนักงานคนไทย 40 คน และแรงงานเมียนมา 51 คน ซึ่งในส่วนพนักงานคนไทยนั้นแพทย์ได้ให้กักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน ส่วนแรงงานเมียนมา ให้กักตัวในแคมป์ที่พักที่อยู่เยื้องกับโรงงาน และทำการซีล แยกกลุ่มเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ กักตัว หากพบผู้ใดมีอาการก็จะทำการตรวจหาเชื้อและเข้ารักษาตัว

ในขณะที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาออกประกาศด่วนขอให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทแคล-คอมพ์อิเล็กทรอนิกส์ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพบพนักงานติดเชื้อ covid19 จำนวนมากและได้ทำการปิดโรงงานไปเมื่อ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมาโดยกรณีที่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดสงขลาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นมาให้แจ้งรายงานตัวกับอสม.ผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ทันที

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/5/2564

ประธานาธิบดีอิสราเอลโทรศัพท์แสดงความเสียใจกับครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พ.ค. 2564 เวลา 14.30 น.หรือ เวลา 10.30 น. ตามเวลาอิสราเอล นาย Reuven Rivlin ประธานาธิบดีอิสราเอล ได้สนทนาทางโทรศัพท์ ผ่านล่ามของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ กับนางสาวเรือนรัตน์ แซ่ลี้ ภรรยานายวีรวัฒน์ การุณบริรักษ์ ซึ่งพำนักอยู่ที่ จ. เพชรบูรณ์ และกับนางสาวอรทัย กองมะเริง ภรรยานายสิขรินทร์ สงำรัมย์ ซึ่งพำนักอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็น 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

โดยประธานาธิบดี Rivlin ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับความสูญเสียในครั้งนี้ของทั้งสองครอบครัว ขอให้ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตทั้งสองรายไปสู่สุขคติ รวมทั้งขอนำส่งการแสดงความเสียใจและความปรารถนาดีของตน รัฐบาลอิสราเอล และประชาชนชาวอิสราเอลไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทย และประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นมิตรที่ดีของอิสราเอล ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดี Rivlin ได้ให้คำมั่นจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการอิสราเอลประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การส่งศพแรงงานไทยทั้ง 2 ราย และการดูแลให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเงินชดเชยตามสิทธิประโยชน์จากอิสราเอลด้วย ในโอกาสนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งสองได้แสดงความขอบคุณและซาบซึ่งต่อประธานาธิบดี Rivlin ที่ได้สละเวลาพูดคุยและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต

ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้กรมการกงสุล โดยหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ. พิษณุโลก (ดูแล จ. เพชรบูรณ์) และหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ.บุรีรมย์ เดินทางไปเยี่ยมญาติของแรงงานที่เสียชีวิต รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการสนทนากับประธานาธิบดีของอิสราเอลด้วย

เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องคนไทยในอิสราเอลทุกคน กระทรวงการต่างประเทศขอให้คนไทยในอิสราเอลโปรดติดตามข้อมูล ข่าวสาร และปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และในกรณีฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ทันที กระทรวงการต่างประเทศยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้เตรียมแผนดูแลคนไทยในอิสราเอลไว้แล้วในทุกสถานการณ์

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 21/5/2564

การบินไทยเลิกจ้างพนักงาน 508 คน มีผล 31 พ.ค. 2564 ยันจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน

ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องมายาวนาน ประกอบกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถประกอบกิจการการบินได้ตามปกติ จนกระทั่งบริษัทฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรทุก ๆ ด้าน อาทิ ด้านแรงงาน ด้านการลงทุน หรือด้านกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนลงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบิน การปรับปรุงองค์กรดังกล่าวเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถประกอบกิจการต่อไปเพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของบริษัทฯ ให้กลับมาประกอบธุรกิจการบินได้อย่างมั่นคงและเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างตัน บริษัทฯ จึงได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานและสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองและผ่านการกลั่นกรองเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ในตำแหน่งงานถาวรจำนวน 10,733 อัตรา และตำแหน่งชั่วคราวจำนวน 257 อัตรา รวมเป็น 10,990 อัตราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้จัดทำโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) และมีพนักงานเสียสละเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 6,725 คน

สำหรับพนักงานจำนวน 508 คน ที่ไม่ประสงค์จะเดินหน้าไปกับบริษัทฯ โดยไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ รวมถึงไม่สมัครเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรนั้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.30 น. บริษัทฯ ได้เลิกจ้างพนักงานดังกล่าวโดยให้มีผลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ ในการเลิกจ้างดังกล่าว บริษัทฯปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยจะจ่ายเงินตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดโดยกฎหมายแรงงาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/5/2564

อยุธยาลุยคัดกรองเชิงรุกพนักงาน 12 โรงงาน 3 นิคม

20 พ.ค. 2564 ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรวจเยี่ยม การตรวจคัดกรอง เชิงรุกหาผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย กระทรวงแรงงานได้กำหนดตรวจคัดกรองเชิงรุกในโรงงาน ตามโครงการ Healthy Thailand เพื่อผู้ประกันตนด้วยความห่วงใย

นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในพนักงานโรงงานมีจำนวนลดลง และเพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด- 19 ในภาคอุตสาหกรรม และเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อไปยังพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในโรงงาน หรือสถานประกอบการ และให้ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ โดยไม่หยุดชะงัก จึงจัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น โดยสุ่มคัดกรองเชิงรุกพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม 3 นิคม รวมทั้งสิ้น 12 โรงงาน พนักงานรวมทั้งสิ้น 5,000 คน โดยดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2564 และได้ประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติตามมาตรการ อันได้แก่การเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงแนะนำให้ร่วมลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/5/2564

"ตลาดสี่มุมเมือง" ติดเชื้อโควิด 909 คน 70% เป็นแรงงานข้ามชาติ

20 พ.ค. 2564 เฟซบุ๊กตลาดสี่มุมเมือง ออกหนังสือชี้แจงสถานการณ์ COVIVD-19 รวม 8 ประเด็นระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ว่า ตลาดสี่มุมเมืองมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งได้สาธารณสุขลำลูกกา ได้ทำการตรวจเชิงรุกไปแล้วกว่า 10,480 คน ตั้งแต่วันที่ 7-15 พ.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อสะสม 867 คนคิดเป็น 8% เป็นกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติ 70% แรงงานคนไทย 30% คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดิม ที่ติดในกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติ เนื่องจากผู้ติดเชื้อเกือบ 100% ไม่แสดงอาการใดๆ

“จากผลการสอบสวนการระบาด ทีมสาธารณสุขวิเคราะห์ว่าน่าจะเกิดจากการติดต่อภายในที่พักอาศัยเดียวกัน ซึ่งสาธารณสุขได้ปิดห้องพักของผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัส และพิจารณาปิดอาคารบางอาคารที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อจำกัดเชื้อไม่ให้กระจายออกไปในพื้นที่นอกชุมชน”

ทั้งนี้ ตลาดได้ประสานเรื่องเตียงและการรักษาให้กับผู้ป่วยคนไทยแล้ว ส่วนแรงงานชาวต่างชาติที่อยู่รวมกันและยากที่จะหาเตียงรองรับ จึงได้สร้างโรงพยาบาลสนามบุญรักษา จำนวน 800 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยเหล่านี้ โดยโรงพยาบาลสนามตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ว่างของตลาดเก่า ไม่มีผู้ใช้งานแล้วและอยู่ห่างจากตลาดสี่มุมเมืองยุคใหม่

รวมทั้งปิดอาคารตลาดผักปรุงรส กับตลาดผักต่างประเทศ 2 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระว่างวันที่ 12-18 พ.ค. เพื่อทำความสะอาดบิ๊กคลีนนิ่ง โดยผู้ค้าและแรงงานทุกคนที่ทำงานในตลาดต้องได้รับการตรวจ 100% และมีผลตรวจว่าไม่พบเชื้อเพื่อยืนยันก่อนเข้าทำการค้าขายในตลาด มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,000 คน และฉีดเพิ่มให้อีก 3,000 คน รวมเป็น 5,000 คน

ตลาดได้นำที่กั้นหยอดเหรียญหน้าห้องน้ำออกเพื่อลดการสัมผัส เปลี่ยนเป็นให้ใช้บริการฟรี เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดทุกชั่วโมง เช็ดจุดสัมผัสอื่นๆ ทุก 30 นาที และมีการวางเจลล้างมือ ตามจุดสัมผัสต่างๆ กว่า 100 จุดทั่วตลาด

ที่มา: Thai PBS, 20/5/2564

ก.แรงงาน เตรียมพร้อมการฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้ประกันตน ม.33 เริ่มฉีดได้ มิ.ย.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือร่วมกับสถานพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้สำรวจความต้องการฉีดวัคซีนผ่านระบบ Web -Service โดยมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ประสงค์จะฉีดวัคซีนมากถึง 80% กระทรวงแรงงานจึงได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ทั้ง 12 เขต ไปหาสถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ได้แล้ว 45 แห่ง โดยได้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการฉีดวัคซีนไว้พร้อมแล้ว ซึ่งได้เชิญผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมจำนวน 12 แห่ง มาประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนที่จะสามารถเริ่มให้บริการได้ในเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กระทรวงแรงงาน เพื่อกระจายให้แก่แรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระยะแรก จำนวน 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 1.5 ล้านโดส ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 4.0 ล้านโดส ประกอบด้วย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1.5 ล้านโดส และในพื้นที่ 9 จังหวัดเศรษฐกิจอื่น 2.5 ล้านโดส พร้อมมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน โดยให้สถานประกอบการแจ้งรายชื่อที่จะฉีด และเชื่อมโยงข้อมูลกับแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ของกระทรวงสาธารณสุข และประสานภาคเอกชนในการหาสถานที่เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการฉีด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/5/2564

แรงงานไทยในอิสราเอลบาดเจ็บ 8 คน กลับบ้านแล้ว 6 คน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเถึงกรณีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย จากเหตุระเบิดโจมตีด้วยจรวดของกลุ่มฮามาส ที่นิคมเกษตรกรรม (โมชาฟ) Ohad ใกล้ฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานว่า แรงงานชายไทยที่เสียชีวิต 2 ราย สถานเอกอัครราชทูตได้ประสานกับแรงงานจังหวัดในประเทศไทย เรื่องข้อมูลผู้เสียชีวิต กระบวนการส่งศพผู้เสียชีวิต การติดตามสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเงินชดเชยที่ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บพึงได้รับจากสถาบันประกันแห่งชาติอิสราเอล (National Insurance Institute) พร้อมแจ้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีอาการสาหัส 2 ราย และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 6 ราย ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล Soroka เมือง Beer Sheva บางส่วนอาการดีขึ้นมาก จึงได้รับการอนุญาตให้เดินทางกลับที่พักแล้ว ทั้งนี้ น.ส.พรรณนภา ได้โทรศัพท์หาผู้บาดเจ็บและญาติ แสดงความเสียใจและอวยพรให้ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอิสราเอล รวมถึงรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ได้โทรศัพท์ถึงเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บของแรงงานไทย โดยทางการอิสราเอลพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมย้ำว่า อิสราเอลใช้มาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยแก่คนต่างชาติเช่นเดียวกับชาวอิสราเอล

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/5/2564

นายกฯ สั่งเร่งช่วยเหลือแรงงานไทยเสียชีวิต-บาดเจ็บในฉนวนกาซา

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จากการโจมตีโดยกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิต และห่วงใยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด พร้อมสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งประสานความช่วยเหลือให้ญาติพี่น้องและครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทราบ รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายในทันที

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากรายงานของฝ่ายแรงงานฯ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่า ได้รับแจ้งข้อมูลจากนาย Eyal Siso รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ว่า จากการโจมตีโดยกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 14.35 น. แรงระเบิดทำให้แรงงานไทย จำนวน 2 ราย เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บอีก 8 ราย นอกจากนี้ ยังมีแรงงานอีก 15 ราย ที่มีอาการตกใจกลัว

สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล Soroka ซึ่งฝ่ายแรงงานฯ ได้ติดต่อไปยังนายปรีชา แซ่ลี้ แรงงานไทยที่โดนสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ว่า หากนายปรีชา และแรงงานไทยอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีความต้องการให้ฝ่ายแรงงานฯ ประสานงานหรือให้ความช่วยเหลือในเรื่องใดให้ติดต่อมาโดยด่วน ทั้งนี้ ฝ่ายแรงงานฯ อยู่ระหว่างการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับรายชื่อผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งจะติดตามดูแลคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด

“สำหรับการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ผมได้ให้สำนักงานแรงงาน (สนร.) โดยฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เข้าไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บและดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ รวมทั้งได้สั่งการให้สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ประสานให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไปเยี่ยมครอบครัวและญาติ เพื่อให้กำลังใจ และแจ้งสิทธิประโยชน์การดูแลคุ้มครองตามกฎหมายแก่ครอบครัวและทายาททราบต่อไป” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 18/5/2464

เร่งตรวจเชิงรุก แคมป์ก่อสร้างใน กทม. 393 จุด แรงงานไทยและต่างด้าว 6 หมื่นคน หลังแคมป์คนงานหลักสี่ติดเชื้อ 80%

17 พ.ค. 2564 หลังจากผลตรวจแคมป์ก่อสร้างเขตหลักสี่ ซึ่งตรวจคนงาน 559 ราย พบติดเชื้อรายงาน 482 ราย คิดเป็น 86.23% และสำนักงานเขตหลักสี่สั่งปิดแคมป์เรียบร้อยแล้วนั้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แคมป์คนงานถือเป็นจุดเสี่ยงในการระบาดของโควิด-19 จึง ได้ประสานผู้ประกอบการทั่วประเทศให้คุมเข้มมาตรการตรวจสอบโควิด-19 โดย ผู้ประกอบการรายใดต้องการนำคนงานเข้ามาตรวจเชิงรุกสามรถประสาน และให้คนงานมาตรวจตามสถานทีตรวจเชิงรุกที่กระทรวงแรงงานจัดไว้

ส่วนกรุงเทพมหาคร ได้ประสานไปแล้วเช่นกัน โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ กทม.ได้เตรียมตรวจเชิงรุกในแคมป์คนงานที่มีจำนวนกว่า 393 จุด และมีแรงงานทังไทยและต่างด้าวกว่า 6 หมื่นคน

สำหรับครัสเตอร์แคมคนงานที่น่าเป็นห่วง 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วยแคมป์คนงานเขตหลักสี่, แคมป์คนงานเขตวัฒนา, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, ตลาดห้วยขวาง และดินแดง

อย่างไรก็ตาม ศบค. ได้กำหนดมาตรการเตรียมประกาศใช้ สำหรับผู้ประกอบการเกี่ยวกับคนงาน โดยจะขอความร่วมมือ เช่น จัดที่พักอาศัยพื้นที่ส่วนกลางไม่ให้มีความแออัด ให้มีการเว้นระยะห่างจัดให้มีแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงห้ามเคลื่อนย้ายคนงานในแคมป์เป็นต้น โดยจะจัดการเป็นรูปแบบบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal)

ที่มา: TNN, 17/5/2564

ก.แรงงาน ช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ สู้วิกฤตไปด้วยกัน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างและมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องแรงงาน จึงได้ดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือแรงงานอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานและสถานประกอบกิจการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หาแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมสภาพคล่องด้านการเงินให้แก่ลูกจ้าง นายจ้าง ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องแรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ กรณีที่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เพื่อพัฒนาให้พี่น้องแรงงานมีรายได้และมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายอภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ให้บริการเงินกู้แก่ผู้ใช้แรงงานโดยผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 กสร. ได้มอบเงินกู้กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน จำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานซีเคียวริคอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการที่จัดตั้งขึ้นใน บริษัท รักษาความปลอดภัย การ์ดฟอร์ซ แคชโซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีสมาชิกจำนวน 735 คน นำไปให้บริการแก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อเสริมสภาพคล่องด้านการเงินและช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปัจจุบันกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ได้จัดโครงการเงินกู้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือรัฐวิสาหกิจ สามารถยื่นคำขอกู้เงินเพื่อนำไปให้บริการเงินกู้แก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ไม่เกินแห่งละ 10 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 กรกฎาคม 2564 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 0383 หรือ 0 2248 6684

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 17/5/2564

สั่งปิดโรงงานอาหารทะเลคลัสเตอร์สงขลา หลัง 65 พนง. ติดเชื้อ เร่งตรวจอีกนับพันราย

17 พ.ค. 2564 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา โดยในวาระในการประชุมทั้งในเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน รวมถึงมาตรการในการควบคุมโรคในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล

ผวจ.สงขลา กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา มีมติให้ปิดโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ของบริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู้ด จำกัด ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งในอีก 5-7 วัน

ในขณะเดียวกันทางฝ่ายสาธารณสุขก็ได้จัดทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เข้าทำการตรวจเชื้อเชิงรุก ในพนักงาน แยกเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงกับกลุ่มเสี่ยงต่ำ อีก 1,500 คน โดยพนักงานไทยนั้น จะทำการตรวจเชื้อเชิงรุกทั้งหมด ประมาณ 1,500 คน หากพบเชื้อส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่หากไม่พบเชื้อก็จะขอให้กักตัวเองที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ อสม.คอยดูและให้กักตัวอย่างแท้จริงและจะตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งในวันที่ 7 และ วันที่ 14 ในส่วนของแรงงานเมียนมาร์นั้น ได้มีการกักตัวภายในแคมป์ และเปิดโรงพยาบาลสนามด้านหน้าแคมป์ เพื่อติดตามอาการ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาวางแนวทางในการดูแลโรงพยาบาลสนามในแคมป์คนงานของบริษัทสยามอินเตอร์ฯ โดยตั้งระบบ อสม.ในแต่ละแถวห้องพักทำหน้าที่วัดไข้ วัดความดันในกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาร์ 1,400 รายโดยหากไม่มีอาการผิดปกติก็กักตัวต่อไปแต่หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสนามซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ทำการตรวจคัดกรองและทำการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยหากพบเชื้อก็จะเข้าสู่ระบบการรักษา แต่หากไม่พบเชื้อก็กลับเข้ากักตัวในแคมป์ต่อไปในส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในแคมป์ที่พักคนงานจะทำการตรวจคัดกรองและให้กักตัวในแคมป์เช่นเดียวกับแรงงานชาวไทยจนครบ 14 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการตรวจสอบพบว่า มีกลุ่มผู้ที่สัมผัสเสียงสูงมีประมาณ 400 คน ซึ่งเป็นคนไทยที่พักในแคมป์คนงาน คนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ตรวจพบเชื้อ คนไทยทุกคนในไลน์ผลิตโรงที่ 2 เจ้าหน้าที่ห้องปฐมพยาบาล คนขับรถรับส่งผู้ป่วยรวมถึงผู้ที่ไม่ใช่พนักงานแต่สัมผัสผู้ป่วยร่วมบ้านหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำประมาณ 800 คน

ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับทางผู้ประกอบการในการควบคุมโรค เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปให้ได้โดยเร็ว หากแรงงานต่างด้าวที่ไม่ติดเชื้อสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลากล่าวว่า เหตุที่ไม่ปิดโรงงานตั้งแต่แรกตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันนั้น เนื่องจากกรณีนี้เป็นการพบเชื้อแบบทยอย คือพบครั้งละ 1 คน 2 คน 4 คน ทำให้มาตรการในการควบคุมต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เพราะหากเจอเชื้อเพียง 1-2 รายแล้วปิดทันทีก็จะกระทบธุรกิจ กระทบกับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทำงานรายวัน ทำให้ต้องมีการพิจารณาใช้มาตรการไปตามสถานการณ์ เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ธุรกิจ ทั้งในส่วนของโรงงานและของแรงงานขับเคลื่อนไปได้ด้วย

สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์โรงงานดังกล่าว ประชาชาติ รายงานว่า จากข้อมูลของวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 พบว่าในกลุ่มพนักงานของบริษัท ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก จำนวน 1,064 ราย เริ่มจากวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมจำนวน 65 ราย เป็นคนไทย 16 ราย และเมียนมา 49 ราย โดยคิดเป็นร้อยละ 6 จากจำนวนพนักงานที่ตรวจคัดกรองทั้งหมดและได้ถูกนำส่งไปรักษายังโรงพยาบาลสนาม สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เรียบร้อยแล้ว

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 จ.สงขลา วันนี้ (17 พ.ค. 2564) ยอดผู้ป่วยสะสมอยูที่ 1,022 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน เป็นหญิงอายุ 91 ปี และชายอายุ 72 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตรวม 5 รายแล้ว และทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ โดยสามรายแรกเป็นชายอายุ 73 ปี ชายอายุ 85 ปี และหญิงอายุ 99 ปี

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/5/2564

ศบค. ห่วง 5 คลัสเตอร์ใน กทม. พร้อมออกมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล คุมเข้มแคมป์แรงงาน ห้ามเคลื่อนย้ายคน

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงว่าศบค.ชุดเล็กได้รายงานในที่ประชุมเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องเฝ้าระวัง 27 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ 17 เขต ประกอบด้วยดินแดง วัฒนา คลองเตย หลักสี่ ลาดพร้าว ราชเทวี พระนคร ดุสิต ป้อมปราบ สวนหลวง ปทุมวัน สาทร จตุจักร สัมพันธวงศ์ สีลม ประเวศน์ และวังทองหลาง และมีอยู่ 7 คลัสเตอร์ที่อย่ในภาวะควบคุมได้ดีพอสมควร แต่ที่น่าเป็นห่วงมี 5 คลัสตอร์สำคัญที่มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันประกอบด้วย 1.แคมป์คนงานเขตหลักสี่ 2.แฟลตดินแดง 3.แคมป์คนงานเขตวัฒนา 4. คลองถมและวงเวียน 22 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ 5. ตลาดห้วยขวางดินแดง

“แคมป์คนงาน ที่มีการสำรวจตั้งแต่ปลายปี 2563 พบว่ามีการกระจายตัวของแคมป์คนงานทั่ว กทม. 393 แคมป์ มีแรงงานเกือบ 60,000 คน มีทั้งชาวไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแคมป์แรงงานหลักสี่ ของบริษัทอิตาเลียนไทย มีการตรวจวันที่ 15 พฤษภาคม 559 ราย พบติดเชื้อรายงาน 482 ราย ซึ่งสำนักงานเขตหลักสี่และตำรวจได้เข้าพื้นที่และปิดแคมป์คนงาน และมีการรายงานให้บริษัทเจ้าของและตรวจแคมป์คนงานในเครือทั้งหมด ส่วนของกรมควบคุมโรค วิเคราะห์เหตุแพร่ระบาดเกิดจากความเป็นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น การใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในหลายจุด เช่น ห้องน้ำ จุดรับประทานอาหาร คนงานเดินทางไปตลาดในชุมชน และเดินทางข้ามพื้นที่ ที่ประชุมจึงได้มีการกำหนดมาตรการที่จะประกาศให้บริษัทของแรงงานเหล่านี้รับทราบปฎิบัติ เช่น จัดที่พักอาศัยพื้นที่ส่วนกลาง จะต้องทำความสะอาด จัดการเรื่องการระบายอากาศและกำหนดความหนาแน่น และให้ดำเนินมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and SEAL) ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน หากมีความจำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเท่านั้น รวมถึงจะมีการจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในแคมป์งานต่างๆ เนื่องจากส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดที่พบมาจากการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปยังแตมป์ต่างๆ เช่น หลักสี่ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุทยา ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถจำกัดวงของผู้ติดเชื้อได้และคัดกรองผู้มีความเสี่ยงได้” แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 16/5/2564

วางแผนตั้งศูนย์กลางฉีดวัคซีนโควิดในนิคมฯ ทั่วประเทศ หนุนเป้าหมายรัฐวันละ 5 แสนคน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปว่าที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พ.ค.2564

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว มีหน้าที่หลัก 1.กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน 2.ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และ 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง

ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อหารือถึงการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะประสานข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับ กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 16/5/2564

ธปท.รับกังวลเศรษฐกิจและตลาดแรงงานทรุด ลุ้นรัฐเร่งกระจายวัคซีนตามแผน

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดโควิดระลอก 3 รุนแรงกว่าที่ผ่านมา คาดกระทบจีดีพีที่ร้อยละ 1.4 – 1.7% ขณะที่การระบาดระลอก 2 กระทบจีดีพีที่ 1.2% โดยการระบาดที่รุนแรง และยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งการระบาดระลอก 3 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงเร็ว คาดว่าต้องใช้มาตรการคุมเข้มไปอีกระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลากว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี หากมีการฉีดวัคซีนเร็วขึ้นจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 3.0-5.7ในช่วงปี 2564 – 2565

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยหลังถูกผลกระทบโควิด-19 ระลอกที่ 3 มีตัวแปรสำคัญ คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็วในการฉีด เพราะรอบนี้กระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลงกว่าเดิม โดยหากฉีดวัคซีนได้ 2.7 – 3.3 แสนโดสต่อวัน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาส 3/65 ซึ่งล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นไตรมาส 2/65 แต่หากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาสแรกปี 65 จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 5-6 แสนโดสต่อวัน หรือ มากกว่า 4 เท่าจากปัจจุบันฉีดต่อวัน 1.5 แสนโดส

นอกจากนี้ หากฉีดวัคซีนได้เร็วจะมีผลต่อเวลาการเปิดประเทศ ซึ่งหากในปีนี้ฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดส จะทำให้เปิดประเทศในไตรมาส 4/65 แต่หากกรณีเลวร้าย โดยจัดหาหรือกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปีนี้ นอกจากจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าไปถึงไตรมาส 4/65 แล้ว ยังทำให้การเปิดประเทศเลื่อนออกไปหลังปี 2565 อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยสิ่งสำคัญ คือ การฉีดวัคซีนให้เร็ว เพื่อจะได้สร้างภูมิคุ้นกันหมู่เร็ว และ เปิดประเทศเร็วขึ้นตามไปด้วย ส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และ ถ้าอนาคตภาครัฐหางบจัดหาวัคซีน และช่วยกระตุ้นการจับจ่ายเพิ่มเติมจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่านี้

ขณะที่การระบาดโควิด-19 ระลอกนี้ ในระยะสั้นกระทบต่อฐานะทางการเงินประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มภาคท่องเที่ยว บริการ และร้านอาหาร ทำให้ ธปท. และ ภาครัฐออกมาตรการดูแลสนับสนุนต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจและธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่มาก โดยเฉพาะส่งออกที่คำสั่งซื้อยังมี จากเศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และปรับตัวด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทน โดย ธปท. มีความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งยืดเยื้อ จะทำให้แรงงานหางานทำได้ยากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสสูญเสียทักษะการทำงานไป โดยกลุ่มผู้ว่างงานส่วนจะเป็นกลุ่มบริการ และกลุ่มคนจบใหม่

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 14/5/2564

สตม.เปิดตัวเลขตั้งแต่ต้นปี ดำเนินคดีลอบเข้าไทยแล้ว 4,000 คน

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่าข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา สตม.จับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 4,000 กว่าคน โดยเน้นย้ำว่าหากพบเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หรือช่วยเหลือการหลบหนี จะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัยอย่างเด็ดขาด

ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ตำรวจ สตม. ขณะนี้ได้ดำเนินการฉีดเข็มแรกให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สตม.แล้ว ร้อยละ 52 และฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว ร้อยละ 38 นอกจากนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ยังชี้แจงกรณีที่ พ.ต.ท.วิญญู พันธุ สารวัตรกองกกำกับการ 3 สตม.เสียชีวิตนั้น ผลการชันสูตรไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข้าในร่างกายและทำให้เสียชีวิต

ที่มา: Thai PBS, 13/5/2564

คลัสเตอร์โรงงานอะไหล่รถยนต์ สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อแล้ว 142 ราย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคทีมปฏิบัติการ เข้าตรวจหาผู้ติด COVID-19 กลุ่มใหม่ ที่โรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์แห่งหนึ่ง ในนิคมอุตสาหกรรมเทพารักษ์ ย่าน ต.บางเสาธง หลังทราบว่ามีพนักงานรายหนึ่งระดับหัวหน้าเดินทางไปเยี่ยมญาติในย่านชุมชนคลองเตยเมื่อกลางเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ก่อนเกิดการแพร่กระจายคนในชุมชนคลองเตยติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก

ข้อมูลเจ้าหน้าที่ระบุว่า โรงงานแห่งนี้มีพนักงานไทย และแรงงานข้ามชาติ 342 คน ผลการตรวจเชิงรุก แยกเป็นแรงงานไทย 164 คน ติดเชื้อ 18 คน แรงงานข้ามชาติ 196 คน ติดเชื้อ 111 คน รวมผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ จนถึงขณะนี้ 142 คน เจ้าหน้าที่จึงมีคำสั่งปิดโรงงาน ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 24 พ.ค.2564 แต่เพื่อความปลอดภัยโรงงานขอขยายเวลาไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2564

การสอบสวนโรคทราบว่าก่อนตรวจพบคลัสเตอร์ระลอกใหม่นี้ มีพนักงานระดับบังคับบัญชาไปเยี่ยมญาติที่ชุมชนคลองเตย และเมื่อกลับเข้าทำงานมีการเรียกประชุมพนักงาน 12 คน ต่อมาพนักงานคนนี้ทราบว่า ญาติที่ไปพบติดเชื้อ COVID-19 จึงไปตรวจร่างกาย ผลยืนยันติดเชื้อเช่นกัน โรงงานจึงประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพื้นที่เข้าตรวจคัดกรองพนักงานทั้งหมด เริ่มจาก 12 คน ที่เข้าประชุม ซึ่งผลยืนยันติดเชื้อทุกคน ทั้งหมดจึงถูกส่งตัวไปรักษาแล้วก่อนหน้านี้

ขณะที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฯ ต้องประสานเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติเฉพาะทางมูลนิร่วมกตัญญู นำรถพยาบาลรถบรรทุก 6 ล้อ รถโดยสาร 2 แถว มารับพนักงานยืนยันติดเชื้อไปส่งโรงพยาบาล ตามสิทธ์ประกันสังคม และโรงพยาบาลสนาม ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงอีกราว 200 คน ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่และเขตรอยต่อ ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามเข้าสู่กระบวนการสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนแล้ว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/5/2564

สกศ.เผยแรงงานไทยมีระดับการศึกษาเฉลี่ยแค่ ม.ต้น ยิ่งเจอโควิด ยิ่งเรียนกระท่อนกระแทน

12 พ.ค. 2564 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อระบบการศึกษาทำให้ผู้เรียนขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบข้อมูลน่าสนใจว่าในปี 2563 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ 15 - 59 ปี) ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญปัจจุบัน เท่ากับ 9.86 ปี หรือมีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ยังห่างจากค่าเป้าหมายถึง 2.64 ปี จากเป้าหมายในปี 2579 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ อยู่ที่ 12.5 ปี หรือมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ ซึ่งแนวโน้มจะถึงค่าเป้าหมายได้ยาก เนื่องจากต้องเพิ่มโดยเฉลี่ยปีละ 0.15 ปี จึงเป็นเรื่องน่าวิตกต่อภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กนักเรียน เนื่องจากการปิดภาคเรียนที่นานขึ้น และยังมีข้อจำกัดของการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลต่าง ๆ ช่วงรอยต่อของการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 มีผลทำให้ผู้จบการศึกษาหางานทำยากขึ้น และยังขาดโอกาสสั่งสมประสบการณ์ทำงานและรายได้ ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลยังพบว่าวัยแรงงานจำแนกตามภูมิภาคในปี 2563 โดยเฉลี่ยแต่ละภาคมีการศึกษาระดับ ม.ต้น หรือมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภูมิภาค สำหรับกรุงเทพ ฯมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุด 11.76 ปี รองลงมาเป็นภาคกลาง 10.08 ปี ภาคใต้ 9.63 ปี ภาคเหนือ 9.18 ปี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9.02 ปี ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามจังหวัดมีข้อค้นพบ 53 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 68.83 ที่มีการศึกษาในระดับ ม.ต้น และมี 24 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 31.17 ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาปีการศึกษาเฉลี่ยรายจังหวัด พบว่าวัยแรงงานที่อาศัยในจังหวัดนนทบุรี มีปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุดเท่ากับ 11.80 ปี และน้อยที่สุด จ.แม่ฮ่องสอน 7.20 ปี โดยจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนภาพที่ชัดเจน ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันกลุ่มวัยแรงงานอายุ 15-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อยอดการพัฒนาประเทศอนาคต โดย สกศ. สังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องความต้องการและความจำเป็นของสถานศึกษาแต่ละขนาดที่มีความแตกต่างกัน เสนอปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบข้ามสาขาวิชาเพื่อพัฒนาให้เด็กมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษ ที่ 21 รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับการจัดการเรียนการสอนแบบ Non-Degree ริเริ่มการใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และระบบธนาคารหน่วยกิต (เครดิตแบงก์) ที่มีการกำหนดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ เน้นสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสในยุคหลังโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ และการแพทย์ครบวงจร

“แม้ว่าผลการศึกษาจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยวัยแรงงานไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 0.1 ปี แต่ สกศ. มองว่าโควิด-19 คือตัวเร่งความท้าทายที่มีอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นหากจะให้บรรลุตามแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ในปี2579 อยู่ที่ 12.5 ปี จำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับวัยแรงงานให้มีความรู้และสามารถเรียนต่อได้สูงขึ้นอีก”เลขาฯ สกศ. กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 12/5/2564

'สมุทรสาคร' นำร่องจับมือสภาอุตฯ-หอการค้าประกาศแบนนายจ้างแรงงานเถื่อน

12 พ.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันตอนหนึ่งว่า ประเด็นที่สำนักอนามัยเป็นห่วงคือเรื่องแรงงานต่างด้าว เพราะโดยปกติแล้วแรงงานต่างด้าวหากเกิดการเจ็บป่วย ถึงแม้ว่าจะเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย เมื่อมาอยู่กับนายจ้างแล้วป่วยเราก็ต้องให้การดูแล โดยให้มีการตรวจหาเชื้อ ถ้าพบเป็นผู้ติดเชื้อจะต้องจัดสถานที่ให้เขาได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่การกระทำความผิดจะต้องได้รับการทบทวนและแก้ไขปัญหาควบคู่กันไปด้วย เมื่อเขาหายป่วยแล้วต้องกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงาน

โดยในที่ประชุมศบค.ชุดเล็กพูดคุยกันว่า จะต้องจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ประกาศในวันเดียวกันว่า มีการเปิดศูนย์สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ตั้งแต่วันที่ 12-31 พ.ค. หากผู้ใช้แรงงานคนใดอยู่ในประกันตนสามารถไปขอตรวจสวอปเพื่อค้นหาการติดเชื้อได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ หรือถ้าอยู่ต่างจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดได้ประสานงานกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด เพื่อดูว่าสถานประกอบกิจการใด โรงงานไหน จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุก ขอให้ผู้ประกันตนไปติดตามได้ในจังหวัดและสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ฟรีโดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเช่นกัน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เราจับได้ว่าทำผิดกฎหมาย ข้ามแดนทางพรมแดนธรรมชาตินั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้รายงานว่า จ.สมุทรสาครได้หารือกับบริษัทจัดหาแรงงาน 20 กว่าแห่งของจังหวัด ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ได้มีการประกาศนโยบายไม่ยอมรับแรงงานผิดกฎหมาย เพราะ จ.สมุทรสาครเป็นแหล่งใหญ่ที่แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน แต่ทำให้เกิดการลักลอบ นำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศตามแนวใช้แดน

ทาง จ.สมุทรสาครจึงได้เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างที่รับแรงงานผิดกฎหมาย ผู้จัดหา เอเยนต์ต่างๆ หรือคนที่นำพา คนขับรถรับแรงงาน ให้ที่พัก ให้การช่วยเหลือเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จ.สมุทรสาครจะประกาศแบนทั้งหมด ถ้าบริษัทเหล่านี้ยังกระทำความผิดเหล่านี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัด ซึ่ง จ.สมุทรสาครได้ทำเป็นต้นแบบแล้ว กรุงเทพมหานครจะได้นำนโยบายเหล่านี้มาทบทวนและหวังว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการจัดการแรงงานผิดกฎหมายด้วย

ที่มา: ไทยโพสต์, 12/5/2564

กลุ่มกัปตันนกแอร์ร่วม 20 คน ตบเท้าร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อ้างถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

11 พ.ค. 2560 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำตัวแทนนักบินหรือกัปตันของสายการบินนกแอร์ประมาณ 20 คน เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนกรณีบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) มีคำสั่งเลิกจ้างกลุ่มพนักงานการบินเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยจริงตามกฎหมาย

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ ได้มีหนังสือเลิกจ้างมายังกลุ่มพนักงานที่เป็นนักบินหรือกัปตันเป็นจำนวนมาก โดยอ้างว่าบริษัทประสบปัญหาด้านการเงิน และขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ส่งผลให้ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินจนเป็นเหตุให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทจะต้องปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องควบรวมฝ่ายงาน หรือยุบโครงสร้างบางฝ่ายงาน ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อนักบินเป็นจำนวนมาก

ขณะนี้นักบินหลักและนักบินผู้ช่วย ทั้งหมดกว่า 20 คนได้รับหนังสือแจ้งการเลิกจ้างแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 ที่ผ่านมา โดยบริษัทสายการบินนกแอร์อ้างว่าจะจ่ายเงินชดเชย และเงินอื่นๆตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมภายใต้กระบวนการของการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายต่อไปได้เสียก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงานของบริษัทที่ถูกเลิกจ้าง เพราะตามหลักกฎหมายเมื่อบริษัทมีหนังสือเลิกจ้างแล้วมีผลวันใดบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยและเงินอื่นๆตามกฎหมายทันที ไม่ใช่ให้รอฟ้ารอฝนโดยไม่รู้ว่าจะได้รับเงินเมื่อไร

ด้วยเหตุดังกล่าว นักบินหรือกัปตันของนกแอร์กว่า 20 คนจึงมาร้องขอความช่วยเหลือจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เพื่อขอให้ช่วยนำพาไปร้องเรียน รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อขอสั่งการช่วยให้ความเป็นธรรม และดำเนินการทางกฎหมายขั้นสูงสุดต่อบริษัทดังกล่าว

ที่มา: TNN, 11/5/2564

ก.แรงงาน เยียวยาลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์จากโควิด จ่าย 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์และที่เกี่ยวข้องเตรียมยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมถึงตนเองในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศไทยระลอกแรกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เรื่อยมา จนถึงการระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 3 นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่า จากการพิจารณาข้อกฎหมายประเด็นดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคมปรากฎว่าเข้าเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e- Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

สำหรับมีเงื่อนไข ดังนี้

1) ทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยสั่งให้ปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่ เช่น สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการในสถานที่ดังกล่าวได้ เช่น ประเภทกิจการที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดประชุม การจัดสัมมนา การจัดเลี้ยงทั้งในและนอกสถานที่ หรือกิจกรรมอื่นในลักษณะเดียวกันที่กระทำในสถานที่นั้นๆ

2) ระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ให้พิจารณาจากการปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่โดยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด หรือคำสั่งของทางราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายกำหนด ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง คราวละไม่เกิน 90 วัน

3) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง ในประเด็นที่นายจ้างไม่ได้ประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามคำสั่ง/ประกาศของทางราชการ ตามข้อ 1) โดยลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 11/5/2564

รัฐบาลเพิ่มแรงงานในระบบประกันสังคม 16 ล้านคน เป็นกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีน

11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ภาคเอกชน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่ผ่านมา เห็นชอบเพิ่มประชากรวัยแรงงานระบบประกันสังคม รวม 16 ล้านคน เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีสํานักงานประกันสังคมและจังหวัดจะเป็นผู้รวบรวมจำนวนและรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งให้กระทรวงสาธารณสุข

น.ส.รัชดากล่าวว่า ขณะเดียวกันก็เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้สัมผัสเสี่ยงและประชาชนทุกๆ คนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อเร่งควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด โดยข้อมูลล่าสุดได้มีการฉีดสะสมแล้ว 1,809,894 โดส โดยในพื้นที่ กทม.การฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 315,504 โดส

น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่ กทม.จัดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยายาลทั่วพื้นที่ กทม. 25 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้สะดวกมากขึ้น เน้นกลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก เช่น พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ คนขับเรือ ครู เป็นต้น โดยจะเปิดให้บริการฉีดวัคซีนครบทั้งหมด 25 แห่งในวันที่ 21 พฤษภาคม มีเป้าหมายจะฉีดวันละ 50,000 คน ให้กับประชาชนกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น ครู ผู้ขับขี่รถสาธารณะ พนักงานเก็บขยะ เป็นต้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกัน ยังให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.อีก 126 แห่ง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เป้าหมายวันละ 30,000 คน รวมแล้วจะฉีดให้ได้วันละ 80,000 คน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/5/2564

สพฐ.แจงกรณีเลิกจ้างครูคลังสมอง 1,964 ราย หลังแบกรับงบกว่า 200 ล้านบาท

10 พ.ค.2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มครูในตำแหน่งบุคลากรวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษากิจกรรมครูคลังสมองของ สพฐ. จำนวน 1,964 ราย ได้ร้องเรียนกรณี สพฐ.มีหนังสือแจ้งด่วนที่สุดที่ ศธ.04010/ว.34 ลงวันที่ 7 ม.ค. 2564 เรื่อง การดำเนินการจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษากิจกรรมครูคลังสมอง ระบุว่า โครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย. 2564 โดย สพฐ.จะเลิกจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จำนวน 1,964 ราย โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2561 ทำให้ครูกลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อน เพราะจะต้องตกงานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นายอัมพร กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งขอชี้แจงว่าโครงการนี้กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาของการดำเนินโครงการฯ สพฐ.จึงดำเนินการแจ้งให้กลุ่มครูอัตราจ้างได้รับทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 7 เดือนก่อนจะถึงเดือนที่สิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้กลุ่มครูอัตราจ้างได้มีระยะเวลาในการเตรียมตัว เพราะ สพฐ.ไม่ได้มีการเตรียมงบประมาณให้ดำเนินโครงการต่อในปี 2565 ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ต้องจัดสรรเงินจ่ายให้เฉพาะกลุ่มอัตราจ้างปีละ 2,000 กว่าล้านบาท โดยการจ้างครูในโครงการนี้ใช้งบประมาณ จำนวน 200 ล้านบาท และจะส่งผลให้เราไม่มีงบพัฒนาในด้านอื่นๆ

นายอัมพร กล่าวว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและมีความห่วงใยกลุ่มครูอัตราจ้างโครงการฯ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้อยู่นะหว่างการจัดหาแนวทาง ว่า จะมีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยเหลือหรือเยียวยาให้ครูกลุ่มดังกล่าว ตามความเหมาะสม

“ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายมอง ว่า การเลิกจ้างกลุ่มครูอัตราจ้างในโครงการดังกล่าว จะส่งผลให้ สพฐ.ต้องขาดครูวิทยาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น ผมขอยืนยันว่าเราไม่ขาดครู เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ต้องการเสริมทักษะให้ผู้เรียนเก่งวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ไม่ได้เกิดโครงการขึ้นเพราะการขาดครูแต่อย่างใด อีกทั้งขณะนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เดินหน้าโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564 - 2567) เพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ระบบโรงเรียน ซึ่งเรายืนยันว่า ครูวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของ สพฐ.มีเพียงพออย่างแน่นอน” นายอัมพรกล่าว

โดยเนื้อหาในหนังสือราชการดังกล่าว ระบุว่า สพฐ. มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพการศึกษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา ขนาดกลางและเล็ก ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมอบให้ สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ พิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่มีความขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ส่งให้สํานักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาจัดสรรงบประมาณการจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้กับโรงเรียนดังกล่าว

โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องและมีรอบระยะเวลาการจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับ คุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้กับโรงเรียนที่สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือก 3 ปีต่อรอบ แบ่งเป็น รอบที่ 1 ปีงบประมาณ 2556-2558 รอบที่ 2 ปีงบประมาณ 2559 – 2563 และรอบที่ 3 ปีงบประมาณ 2562 – 254 โดยบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน พร้อมเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ร้อยละ 5 ของเงินเดือนที่ได้รับ และเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ในอัตราร้อยละ 0.6 ต่อเดือน ขณะนี้การจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กิจกรรมครูคลังสมอง จะสิ้นสุดการดําเนินโครงการและสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ในรอบที่ 3 ปีงบประมาณ 2564 ในวันที่ 30 ก.ย. 2564 นั้น

ในการนี้ สพฐ. พิจารณาแล้วว่า โครงการดังกล่าว บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการตามงบประมาณและระยะเวลาที่กําหนด จึงเห็นชอบให้สิ้นสุดโครงการและสิ้นสุด การจัดสรรงบประมาณสําหรับการจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โครงการพัฒนาคุณภาพและ มาตรฐานการศึกษา กิจกรรมครูคลังสมอง ในรอบที่ 3 ปีงบประมาณ 2564 ในวันที่ 30 ก.ย. 2564 และขอให้แจ้งโรงเรียนและบุคลากรในโครงการดังกล่าวทราบการสิ้นสุดโครงการฯ ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 10/5/2564

COVID-19 กระทบความต้องการแรงงานใน EEC ลดลง

ข้อมูลจากคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC -HDC ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในทุกสาขาได้แก่ ท่องเที่ยว, โลจิสติกส์, ระบบราง, เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ ,Medical Hub, พาณิชย์นาวี, Smart Electronics และ Digital, หุ่นยนต์&Automation, อากาศยาน ,ยานยนต์สมัยใหม่

โดยคณะทำงานประกอบด้วย EIF (EEC Industrial Forum) ,EEC Net หรือ ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากร,คณะทำงานชุดพิเศษ 2 ชุด ซึ่งจะแยกทำหน้าที่ ทั้งสนับสนุนสาขาขาดแคลนและสถาบัน Droneนอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัย อีก 8 แห่ง เช่น ม.บูรพา ม.ศรีปทุม PIM มธ.พัทยา เป็นต้น

องค์ประกอบเหล่านี้ จะทำหน้าที่วิเคราะห์และพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC ซึ่งหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่าความต้องการบุคลากรมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลง จึงต้องมีการทบทวนประมาณการความต้องการบุคลากรในEEC อีก 5 ปีข้างหน้าใหม่ พบว่าสาขาการบินมีความต้องการลดลงสูงสุด ถึง 40%

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/5/2564

สภาองค์การนายจ้างฯ ประเมินจำนวนผู้ตกงานระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 2.7-2.9 ล้านคน

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ประเมินว่าการว่างงานจากพิษโควิดระลอก 3 ในเดือน เม.ย. 2564 นี้จึงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยยังมีสัญญาณอันตราย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เตือนมาล่าสุดว่า อาจเกิด scarring effects ที่แรงขึ้น คือ แรงงานบางกลุ่มจะว่างงานนานขึ้น หรืออีกนานกว่าจะได้กลับมาทำงาน แม้การระบาดจะสิ้นสุดลง ทำให้บางกลุ่มต้องออกจากการเป็นกำลังแรงงาน เพราะหางานทำไม่ได้ นานจนสูญเสียทักษะฝีมือ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว

ดร.ธนิต เปิดเผยว่ามีการประเมินจำนวนผู้ตกงานระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ว่าจะมีตัวเลขคนว่างงานไม่ต่ำกว่า 2.7-2.9 ล้านคน โดยนับทั้งผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นคนว่างงาน จากการลาออก และถูกปลดออกเพราะธุรกิจเลิกกิจการในระบบประกันสังคม กับคนที่เสมือนคนว่างงาน หรือว่างงานแฝง เพราะถูกลดเวลาการทำงาน เพียงสัปดาห์ละ 1-19 ชั่วโมง จากปกติทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง และที่น่าห่วงยังมีนักศึกษาจบใหม่ในเดือนสองเดือนนี้อีกกว่า 5 แสนคนที่เตรียมหางาน โดยยังมีนักศึกษาที่จบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มีเพียงครึ่งเดียวจากกว่า 5 แสนคนที่มีงานทำแล้ว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/5/2564

กทม. เคาะฉีดวัคซีนเพิ่มพนักงาน Delivery-แรงงานนอกระบบ กลุ่มเสี่ยง 5 แสนคน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2564 โดยมีมติเห็นชอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กระทรวงแรงงานขยายการให้บริการจุดตรวจโควิด-19เชิงรุกแก่ผู้ประกันตน ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ระหว่างวันที่ 5-31 พ.ค. 2564

ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ให้บริการตรวจโควิด-19เชิงรุกแก่กลุ่มผู้ประกันตนในช่วงเดือนเม.ย. 2564 สามารถคัดกรองประชาชนได้ 32,453 คน พบผู้ติดเชื้อ 808 คน คิดเป็น 2.50% รวมทั้งมีการดำเนินการภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง การคัดกรองผู้มารับบริการ และสามารถดูแลผู้ติดเชื้อภายหลังพบผล Positive เป็นอย่างดี จึงเห็นชอบให้ขยายการให้บริการต่อไปได้

นอกจากนี้เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวครอบคลุมประชาชนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย กระทรวงแรงงานพร้อมที่จะดำเนินการตรวจในกลุ่มพนักงานส่งอาหารDelivery รวมทั้งแรงงานที่อยู่นอกระบบทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการให้ได้วันละ 2,000 คน เพื่อให้เกิดการป้องกันการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริการจัดการวัคซีนสำหรับกลุ่มอาชีพเสี่ยงเพิ่มเติม อาทิ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คนขับรถสาธารณะ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานดอนเมือง การไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเจ้าหน้าที่พนักงานกวาดประจำ 50 สำนักงานเขต ซึ่งคาดว่าจะมีกว่า 500,000 คน และหากกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมให้เร่งดำเนินการฉีดทันที

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/5/2564

มติ กก.โรคติดต่อฯ ขยายกลุ่มวัคซีนโควิด 16 ล้านโดสแรก กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มเภสัชกร กลุ่มประชากรวัยแรงงาน

7 พ.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 ว่า ในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการกระจายวัคซีนฉีดป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จำนวนมาก ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีมติ 3 เรื่อง คือ 1.สธ.ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ภาคเอกชน จะมาร่วมในการฉีดวัคซีนในประชากรวัยแรงงานรวม 16 ล้านคน โดยมีสํานักงานประกันสังคม (สปส.) และจังหวัดเป็นผู้รวบรวมจำนวน และรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนในโอกาสต่อไป

“นอกจากนี้ ยังจะมีการเพิ่มจุดฉีดวัคซีนที่นอกเหนือจากสถานพยาบาลของรัฐ ในกรุงเทพมหานคร 82 แห่ง และต่างจังหวัดประมาณ 300 แห่ง โดยคุณสมบัติเบื้องต้น จะต้องมีการดูแลในเรื่องของระบบสุขาภิบาล เรื่องการระบายอากาศ มีระบบการเฝ้าระวังอาการหลังการฉีด 30 นาที และการให้การช่วยเหลือหากกรณีมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น อาทิ ตั้งในโรงงาน ศูนย์การประชุม ลักษณะคล้ายกับ รพ.สนาม อนาคตอาจจะมีการดำเนินการฉีดผ่านรถเคลื่อนที่” รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า 2.มีมติเห็นชอบแนวทางในการฉีดวัคซีนของซิโนแวคให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากผลการศึกษาของประเทศจีนมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว จากนี้ จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป เพื่อดำเนินการฉีดในกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ 3.เห็นชอบให้ออกอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ในเรื่องของการเปรียบเทียบปรับกรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเมื่อออกนอกเคหสถาน โดยจะมีการอนุโลม ยกเว้น และการลดค่าปรับตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน

“แต่ยังยืนยันว่าขอความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกนอกบ้าน หรือไปในที่ที่มีคนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายเพิ่มเติม คือ ข้าราชการสังกัดกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราไม่ได้ต้องการใช้กฎหมายเพื่อลงโทษใคร แต่เพื่อให้ประชาชนใส่ใจ รับผิดชอบ และมีความระมัดระวังมากขึ้น สวมหน้ากากอนามัยให้ตลอดเวลา พร้อมทั้งมาตรการป้องกันโรค เว้นระยะห่าง ล้างมือและการสแกนไทยชนะด้วย” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการหารือกันในสัดส่วนของแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนล็อตแรก 16 ล้านโดส ที่ได้ขยายออกไป แต่ขอให้ประชาชนใน 2 กลุ่มเป้าหมายแรก คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่มีรายชื่อในหมอพร้อม ก็ขอให้ลงทะเบียนเพื่อจองวันฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่ขยายเพิ่ม เช่น กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาที่จะเปิดเรียนในเดือน มิถุนายนนี้ กลุ่มเภสัชกร กลุ่มประชากรวัยแรงงาน ก็จะมีการลงทะเบียนจากหน่วยงาน ส่งรายชื่อไปยัง สธ. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับค่าปรับที่มีการหารือคร่าวๆ จะแบ่งเป็นการกระทำผิดครั้งแรกปรับไม่เกิน 1,000 บาท หากมีการกระทำผิดซ้ำจะปรับตั้งแต่ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และถ้ายังมีการกระทำผิดอีก จะปรับในหลักหมื่น แต่ไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดจะต้องมีการหารือเพื่อวางโครงร่างที่ชัดเจนอีกครั้ง

“การจับปรับไม่ได้หวังเงินทองของประชาชน แต่เพื่อเป็นการป้องปรามให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็ให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/5/2564

สธ. เผยแนวทางในการปฎิตนของพนักงานในโรงงาน ทำอย่างไรให้ห่างไกลจาก COVID-19

ช่วงเดือน พ.ค. 2564 จากกรณี สถานการณ์ COVID-19 ใน จ.สมุทรปราการ กับคลัสเตอร์สมุทรปราการ ในโรงงาน อ.พระสมุทรเจดีย์ พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 160 ราย เริ่มต้นมาจากพนักงานชาวเมียนมามีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2564 และทำให้มีการติดเชื้อ COVID-19 ของคนในโรงงานแผ่ขยายเป็นวงกว้างรวมไปถึงชุมชนใกล้เคียง 

และเนื่องด้วยโรงงาน เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่มีพนักงานทำงานร่วมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรการอย่างเคร่งครัดในการป้องกันเชื้อ COVID-19 ขณะเดียวกันพนักงานในโรงงานเอง ก็ต้องปฎิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด เช่นกัน ซึ่งล่าสุดทางกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ได้มีแนวทางในการปฎิตนของพนักงานในโรงงาน ทำอย่างไรให้ห่างไกลจาก COVID-19 ดังนี้ 1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 2. งดรับประทานอาหารร่วมกัน ห้ามพูดคุยขณะกินข้าว 3. เคร่งครัดเว้นระยะห่าง 4. แยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ 5. ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสจุดเสี่ยง ราวบันได ลูกบิดประตู  และ 6. เมื่อมีการเจ็บป่วยเช่น ไอ จาม ไข้ มีน้ำมูก หยุดงานทันทีและรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

ที่มา: คมชัดลึก, 6/5/2564

กสร.ชี้ แจงประเด็น แรงงานถูกเลิกจ้างเหตุติด COVID-19 ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง จึงมีสิทธิรับค่าชดเชย

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19 ที่ขยายวงกว้างเข้าสู่สถานประกอบกิจการ เป็นความห่วงใยที่พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับให้ความคุ้มครองดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือมีความเสี่ยงที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับความช่วยเหลือ รักษา เยียวยา

โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำความเข้าใจกับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการให้ทราบว่า กรณีที่สถานประกอบกิจการออกประกาศห้ามลูกจ้างเดินทางข้ามจังหวัดหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 แต่ภายหลังทราบว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จนเป็นเหตุให้นายจ้างสงสัยได้ว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้

ทั้งนี้ นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือการหยุดพักผ่อนประจำปี และหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อโรคดังกล่าวหรือสงสัยว่าลูกจ้างติดเชื้อ มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง เพราะการเจ็บป่วยเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติมิใช่การกระทำผิดวินัยของลูกจ้างและเป็นการติดเชื้อจากโรคระบาดที่แพร่กระจายในวงกว้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ในวงกว้าง นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องให้ความร่วมมือกันในการป้องกันการแพร่ระบาดดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 6/5/2564

กระทรวงแรงงานส่งแรงงานไทย 252 คน ไปทำงานที่อิสราเอล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีกำหนดส่งแรงงานไทย จำนวน 252 คน แบ่งเป็นเพศชาย 251 คน และเพศหญิง 1 คน เดินทางไปทำงานภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย - อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers:TIC)

ด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำพิเศษ สายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY 082 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยเวลา 09.15 น. และมีกำหนดถึงปลายทางกรุงเทลอาวีฟ เวลา 15.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น

นายสุชาติ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและรู้สึกขอบคุณแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด ด้วยถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม สนับสนุน พัฒนากระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ และขยายตลาดแรงงานไทยไปต่างประเทศอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล

"โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอล จำนวน 5,000 คน ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 – เดือน พ.ค. 64 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานแล้ว รวมกับที่จะเดินทางในวันพรุ่งนี้ทั้งสิ้น 3,616 คน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ท่านรัฐมนตรีสุชาติ ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน ดูแลพี่น้องแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอลอย่างดี โดยก่อนเดินทั้งหมดจะได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ก่อนการเดินทาง

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ซึ่งมีหัวข้อการอบรมที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทย ฯ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ภายในประเทศและการปฏิบัติตัว การเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ วิธีเดินทางออกและกลับเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมาย สัญญาจัดหางาน สัญญาจ้างงาน และสิทธิประโยชน์กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า รวมทั้งช่องทางการติดต่อผ่านแอปพลิเคชั่น TOEA และข้อมูลหน่วยงานราชการไทยในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้กรมการจัดหางานจัดขึ้นโดยคำนึงถึงมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารสุขอย่างเคร่งครัด

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่าสำหรับโครงการนี้ มีระยะเวลาการจ้างงาน 2 ปีแต่ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการต่ออายุใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติของนายจ้างและวีซ่าการทำงาน ตามข้อกำหนดของกฎหมายรัฐอิสราเอล

นายไพโรจน์ กล่าวว่าโดยคนหางานจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 48,073 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น)

ทั้งนี้ ผู้สนใจเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอลสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: คมชัดลึก, 6/5/2564

รมว.แรงงาน สั่งการเร่งช่วยเหลือเยียวยาพนักงานห้างสรรพสินค้ากลางเมืองโคราช

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ได้รับรายงานว่าลูกจ้างห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า ถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้รับค่าจ้างและเงินชดเชยการเลิกจ้าง ก็ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จพบว่า บริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด จำเป็นต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของทางห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร์ หรือคลัง 2 ที่ต้องแบกรับภาระมาตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก จนปัจจุบันต้องปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม นี้เป็นต้นไป และได้เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 191 คน โดยพนักงานตรวจแรงงานได้พูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกจ้างในสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับจนเป็นที่พอใจ และมีหนังสือนัดนายจ้างมาพบในวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง และให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับปัญหาการเลิกจ้างนี้ไว้แล้ว โดยในเบื้องต้นมีเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาบรรเทากรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และมีเงินทดแทนระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วันต่อปีปฏิทิน จัดหาตำแหน่งงานว่างมารองรับ และฝึกอบรมยกระดับฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพตามที่ลูกจ้างสนใจ

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดี กสร. ในฐานะโฆษกกรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีการเลิกจ้างลูกจ้างเกิดขึ้น ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยการเลิกจ้างตามอายุงาน เช่น อายุงาน 10 - 20 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน ซึ่งในกรณีนี้ส่วนใหญ่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ทั้งนี้หากสิทธิวันลาพักผ่อนยังเหลืออยู่ก็ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินที่ลูกจ้างพึงได้รับด้วย ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนลูกจ้าง 15 คน ได้มาพบพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อรับทราบขั้นตอนและวิธีการยื่นคำร้องสิทธิที่ไม่ได้รับเงินผ่านระบบ e-service ของกรมฯ และได้มีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อสื่อสารกับกลุ่มลูกจ้าง โดยกลุ่มลูกจ้างได้กลับไปประชุมหารือกับนายจ้างเกี่ยวกับเรื่องเงินต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากไม่ได้รับสิทธิตามที่พึงได้สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งกรมจะดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 5/5/2564

กระทรวงแรงงานเปิดตรวจ COVID-19 เชิงรุก ผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ 5-11 พ.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยกระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับมหาดไทย กทม. สปสช. เปิดบริการจุดตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตน และแรงงานนอกระบบรอบใหม่อีกครั้ง เพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี วันที่ 5 – 11 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ห่วงใยผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระและประชาชนทั่วไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีดำริกำชับให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก พร้อมแรงงานนอกระบบในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม บูรณาการความร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. ดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบ ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในวันนี้ (5 พ.ค. 2564) ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ได้เปิดตรวจโควิด-19 เชิงรุก อีกครั้ง โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยในแต่ละวันตรวจได้ไม่เกิน 3,000 คน รอบเช้า 1,500 คน และรอบบ่าย 1,500 คน

นายสุชาติกล่าวต่อว่า ในวันนี้ กระทรวงแรงงานยังได้เปิดศูนย์ตรวจโควิด-19 ที่อาคารโดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี ให้บริการตรวจโควิด-19 เชิงรุกเช่นกัน โดยตรวจได้วันละ 1,000 คน รอบเช้า 500 คน รอบบ่าย 500 คน ผู้ที่ต้องการตรวจสามารถลงทะเบียนจองคิวตรวจได้ที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php

จากนั้นผู้ประกันตนกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเลขพาสปอร์ต กรอกข้อมูลประเมินความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากผู้ประกันตนรายใดลงทะเบียนแล้วไม่มาตรวจตามนัดจะต้องลงทะเบียนใหม่ และเมื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เรียบร้อยแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที เนื่องจากผลการตรวจจะส่งทาง SMS ให้ผู้ประกันตนทราบตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน ขอให้ผู้ที่มาตรวจนำบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย ซึ่งทั้งสองแห่งจะเปิดตรวจตั้งแต่วันที่ 5 – 11 พ.ค.นี้

ผู้ประกันตนสามารถสอบถามได้ที่โทรศัพท์ 1506 กด 6 เพื่อหาสถานที่ตรวจและสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาในกรณีติดเชื้อได้ โดยให้บริการทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการทั้งสิ้น 10 คู่สาย ช่วยเหลือผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบที่เดือดร้อนจากการตรวจโควิด-19 ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอีกทางหนึ่งด้วย

กรณีตรวจพบเชื้อและมีอาการจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ส่วนผู้ที่ตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีอาการหรืออยู่ในระดับสีเหลืองตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ Hospitel ของประกันสังคม ซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลเป็นอย่างดี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/5/2564

แกลลอปโพลชี้คนไทยรายได้ลด 76% ช่วง COVID-19 ระบาดทำทั่วโลกตกงาน 1 ใน 3

บริษัทจัดทำโพล Gallop (แกลลอป) เปิดเผยผลโพลสำรวจประชาชน 300,000 คนใน 117 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับผลกระทบต่อรายได้จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโรค โควิด-19 พบว่าเฉลี่ยแล้ว ประชาชนทุก 1 ใน 2 คน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ถูกสอบถามต้องประสบกับการมีรายได้ลดลง

โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำ ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการถูกเลิกจ้างงาน รวมทั้งต้องถูกลดชั่วโมงการทำงาน จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งจากตัวเลขที่ออกมาจึงแปลได้ว่า มีประชากรโลกในวัยผู้ใหญ่ถึง 1,600 ล้านคน มีรายได้ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

ผลการสำรวจยังพบว่า เปอร์เซ็นต์ของประชาชนซึ่งมีรายได้ลดลงจากโควิด-19 ระบาด ในประเทศร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนานั้น มีช่วงห่างที่ค่อนข้างกว้าง โดยประเทศไทย มีผู้มีรายได้ลดลงจากโควิด-19 ระบาดสูงถึง 76% ขณะที่ประชาชนในสวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนที่มีรายได้ลดลงเพียงแค่ 10%

แกลลอปโพล ยังพบว่า มีประชาชนทั่วโลกกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 50% ต้องถูกพักงานชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด ซึ่งแปลได้ว่ามีประชาชนทั่วโลกในวัยผู้ใหญ่ถูกพักงานชั่วคราวถึงประมาณ 1.7 พันล้านคน ประชาชนใน 57 ประเทศรวมทั้ง อินเดีย ซิมบับเว ฟิลิปปินส์ เคนยา บังกลาเทศ เอลซัลวาดอร์ มีประชาชนกว่า 65% ต้องถูกพักงานชั่วคราว ในขณะที่ผลการสำรวจพบว่าประเทศในยุโรป อย่างออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี มีประชาชนน้อยกว่า 2-3 คนในจำนวน 10 คน ที่ต้องถูกพักงานจากการระบาดของโควิด-19 ในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีประชาชนถูกพักงานอยู่ที่ 39%

ส่วนผลการสอบถามประชาชนที่ต้องตกงาน ถูกเลิกจ้างจากการระบาดของโควิด-19 พบว่ามีประชาชน 1 ใน 3 คน ต้องตกงาน หรือปิดกิจการ ซึ่งแปลได้ว่ามีประชากรทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านตกงาน และสูญเสียธุรกิจจากการระบาดของโควิด-19

ที่มา: สยามรัฐ, 4/5/2564

สหภาพแรงงาน ขสมก. เรียกร้องตรวจ COVID-19 ให้พนักงาน 13,000 กว่าคน หลังเจ้าหน้าที่ติดเชื้อกว่า 30 ราย

นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(สร.ขสมก. )เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 ระลอก 3 ในหลายพื้นที่ส่งผลให้พนักงาน ขสมก. ติดโควิด-19 แล้วมากกว่า 30 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงที่เฝ้าระวังอีกแทบจะทุกเขตการเดินรถที่มี 8 แห่ง ซึ่งทางสภาพแรงงานฯ ไม่นิ่งนอนใจส่งหนังสือถึง นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการขสมก. เพื่อดำเนินการเร่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงาน ขสมก. ที่มี 13,000 กว่าคน โดยเฉพาะพนักงานขับรถโดยสาร(รถเมล์)พนักงานเก็บค่าโดยสาร และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเดินรถทั้งหมด เช่น นายท่า และสายตรวจพิเศษ ที่ต้องสัมผัสกับผู้โดยสารจำนวนมาก เพื่อได้คัดกรองพนักงานที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกันชัดเจน เพราะปัจจุบันไม่มีการตรวจโควิด-19 ไม่ทราบว่าพนักงานคนไหนติด และไม่ติดบ้าง หากติดจะทำให้เกิดการระบาดลุกลามขยายเป็นกว้างอย่างรวดเร็ว

"ถ้ามีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทำให้ง่ายต่อดำเนินการรักษา ปฏิบัติ การควบคุมโรคและลดความเสี่ยงลง ทั้งที่การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้พนักงานนั้นก่อนหน้านี้ ขสมก. ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ตรวจหาเชื้อได้ประมาณ 1,000-2,000คน แล้ว หลังจากนั้นหยุดตรวจไป ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานทั้งหมดโดยเร่งด่วน เนื่องจาก ขสมก. เป็นหน่วยงานที่ให้บริการรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล แต่ละวันมีผู้ใช้บริการหลายแสนคน หากได้รับวัคซีนช่วยเป็นอีกส่วนที่ช่วยลดการแพร่ระบาดได้"

ที่มา: สยามรัฐ, 4/5/2564

กระทรวงแรงงานนำร่องเปิด Hospitel ให้ผู้ประกันตน เบื้องต้นรองรับได้ 600 เตียง

4 พ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดตัว Hospitel ประกันสังคม เพื่อรองรับผู้ประกันตน มาตรา 33,39 และ 40 ที่ป่วยโควิด-19 ณ โรงแรมทวินทาวเวอร์ ถนนรองเมือง และโรงแรมเอวาน่า แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซนเตอร์ เขตบางนา เชื่อสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกันตนที่ป่วยให้ได้เข้ารับการรักษอย่างปลอดภัย และช่วยลดอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยทั้งสองโรงแรมมีเตียงรองรับ จำนวน 600 เตียง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และดำเนินมาตรการป้องกันโควิดตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณาสุขอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อประสาน Hospitel ให้แก่ผู้ประกันตนหาสถานที่ตรวจ และสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาในกรณีติดเชื้อได้ โดยโทรศัพท์ติดต่อที่เบอร์ 1506 กด 6 ให้บริการทุกวันจันทร์–อาทิตย์ เวลา 08.00–17.00 น. มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการทั้งสิ้น 10 คู่สาย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/5/2564

ภาพรวมตรวจ COVID-19 ผู้ประกันตนแล้วกว่า 45,000 คน พบผู้ติดเชื้อกว่า 700 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้บริการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสายด่วน 1506 กด 6 ที่สำนักงานประกันสังคมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีความห่วงใยมายังพี่น้องผู้ประกันตนทุกคนจากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ จึงกำชับให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มหรือจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. เพิ่มช่องทางหรือทางเลือกเพื่อบริการผู้ประกันตนให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว ลดความแออัด ลดการแพร่ระบาด ไม่ต้องรอคิวนาน ตรวจเสร็จแล้วหากพบติดเชื้อส่งรักษาทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดำเนินการตรวจโควิด–19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33,39 และ 40 ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์เยาวชน (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง และขยายจุดตรวจไปยังจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ และสมุทรปราการ

ทั้งนี้ ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ได้ปิดศูนย์ชั่วคราวระหว่างวันที่ 1-4 พ.ค. 2564 และจะเปิดให้บริการตรวจใหม่ในวันที่ 5 – 11 พฤษภาคมนี้ เช่นเดียวกับศูนย์ตรวจโควิด-19 ที่อาคารโดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานีได้ปิดศูนย์ชั่วคราวและเปิดให้บริการใหม่ในวันที่ 5-11 พ.ค.นี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ได้หยุดพัก ทำความสะอาดสถานที่ และดำเนินการกลุ่มที่ตกค้างให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนศูนย์ตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 1 สมุทรปราการ ได้เปิดให้บริการตรวจตั้งแต่วันที่ 1-7 พ.ค. 2564 โดยภาพรวมขณะนี้ได้ตรวจไปแล้วกว่า 45,000 คน พบผู้ติดเชื้อกว่า 700 คน ซึ่งทั้งหมดถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนสาธารณสุขในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมและ Hospitel แล้ว

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมการให้บริการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสายด่วน 1506 กด 6 ที่สำนักงานประกันสังคม ที่เปิดให้บริการเพื่อเป็นช่องทางติดต่อให้กับผู้ประกันตน ที่ไม่สามารถหาสถานที่ตรวจและสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาในกรณีติดเชื้อได้ โดยจะให้คำแนะนำผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้คำปรึกษาการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้คำแนะนำหลักเกณฑ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองหลังการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานพยาบาล รวมถึงการส่งตัวผู้ประกันตนที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล และแนะนำเรื่องอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 โดยจะให้บริการทุกวันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 10 คู่สาย ผู้ประกันตนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจโควิด-19 รวมทั้งกรณีที่ต้องการรถพยาบาลให้ไปรับที่บ้านเพื่อไปตรวจรักษา ประสานหาเตียงให้ผู้ที่ติดเชื้อ สามารถประสานมายังสายด่วน 1506 กด 6 และในขณะนี้ผมได้เปิดวอรูมที่กระทรวงแรงงานโดยให้เจ้าหน้าที่ทีมงานหน้าห้องผม ได้ช่วยกันประสานการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกันตนและประชาชนที่เดือดร้อนจากการตรวจโควิด-19 ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจได้ว่าจากการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้คลี่คลายลงโดยเร็ววันและให้ผู้ประกันตนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดอีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 3/5/2564

ห้างดังโคราชเลิกกิจการ ยอมจ่ายเงินเดือนแล้ว แต่ค่าชดเชยยังตกลงกันไม่ได้

จากกรณีที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศปิดการประกอบกิจการห้างบางส่วน เนื่องจากแบกรับภาระไม่ไหวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พนักงานกว่า 200 ราย ต้องตกงาน ประกอบกับห้างดังกล่าวยังนิ่งเฉยไม่มีทีท่าจะจ่ายเงินให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 อดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างของห้างคลังพลาซ่า แจ้งว่า ทางผู้บริหารห้างคลังพลาซ่าได้จ่ายเงินเดือนๆ สุดท้าย และเงินค้ำประกันแรกเข้างาน ให้กับอดีตพนักงานทุกคนแล้ว เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 และในวันนี้ พนักงานเกือบทั้งหมดได้เดินทางไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนำเอกสารหลักฐานขอยื่นเป็นบุคคลว่างงาน เพื่อรับเงินชดเชยการว่างงานจากหน่วยงานภาครัฐ หลังจากถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า พร้อมสมัครทำงานในตำแหน่งต่างๆ ตามที่ได้มีการประกาศไว้ในสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา

ด้าน นายเอก (นามสมมุติ) อดีตพนักงานห้างคลังพลาซ่า กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ ทางห้างฯ จะจ่ายเงินเดือนและเงินประกันที่คงค้างไว้แก่พนักงานแล้วก็ตาม แต่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างต่างบอกว่า เงินที่ได้รับมา อาจจะใช้จ่ายภายในครอบครัวได้ไม่เกิน 1 เดือน เนื่องจากแต่ละคนมีภาระทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ อีกทั้ง ค่าเล่าเรียนบุตร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประจำวัน บางรายถูกเลิกจ้างทั้งสามี ภรรยา ทำให้ต้องมายื่นขอเงินชดเชยจากหน่วยงานภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ขณะที่ บางคนอายุมาก มาตกงานในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้ตอนนี้ครอบครัวลำบากมาก ซึ่งเข้าใจดีว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ แต่ก็อยากให้ผู้ประกอบการเห็นใจพนักงานทุกคนที่ถูกเลิกบ้าง อยากให้จ่ายชดเชยเงินเลิกจ้างให้กับพนักงานที่เดือดร้อนโดยเร็ว ตามสิทธิ์ที่พนักงานควรจะได้รับตามกฎหมาย ซึ่งทุกคนมีความหวังว่า ผู้ประกอบการจะจ่ายหลังจากนี้ เพราะผู้ประกอบการได้แจ้งว่า จะพูดคุยกับพนักงานทุกคนในเรื่องนี้อีกครั้ง ใน 1 สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากหารือปรึกษาระดับผู้บริหารแล้ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/5/2564

รัฐบาลช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน ม.33 รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน จากเหตุสถานการณ์โควิด-19

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องแรงงาน พร้อมให้ดูแลผู้ประกันตนที่มีกว่า 16.5 ล้านคน โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานที่ และสถานประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ตามประกาศ “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563” และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างหรือถูกสั่งให้กักตัว มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในขณะนี้

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุก ผู้ประกันตนทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ในพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี และเชียงใหม่ ตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด พร้อมประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตนที่อาจติดโควิด-19 สำหรับผู้ที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งจะประสานให้ส่งตัวไปยัง Hospitel รวมทั้งกำชับให้ทุกสถานประกอบการทุกแห่ง เฝ้าระวัง ตรวจสอบ คัดกรองโรคโควิด-19 เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถหาสถานที่ตรวจโควิด-19 หรือสถานพยาบาล สามารถติดต่อสายด่วนได้ที่ 1506 กด 6

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/5/2564

นายกฯ ออกสารเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2564 ยันรัฐบาลมุ่งมั่นดูแลแรงงานทุกคน ทั้งในระบบ-นอกระบบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกคำปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ขอส่งความรัก ความปรารถนาดีมายังแรงงานไทย ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโดวิด-19 จึงต้องงดการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ ด้วยห่วงใยความปลอดภัย แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคควบคู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสทางการค้า และการมีงานทำของแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน, โครงการคนละครึ่ง, โครงการ ม.33 เรารักกัน, โครงการเราชนะ และขยายเวลาลดหย่อยส่งเงินสมทบประกันสังคม ลดค่าน้ำค่าไฟ และมาตรการอื่นๆ เพื่อให้แรงงานทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ และพร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข้งในเร็ววัน พร้อมกันนี้ ยังให้การสนับสนุนด้านสวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และการพัฒนาความสามารถและศักยภาพแรงงานอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ห่วงใยพี่น้องแรงงานทุกคน ขอให้ดูแลรักษาสุขภาพ ดำเนินชีวิตวิถีใหม่ และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง และพบแพทย์เมื่อมีอาการ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/5/2564

เรื่องที่ได้รับความนิยม