Wednesday, October 28, 2020

ราคาที่คนทำงานต้องจ่ายเอง จากการ 'ทำงานจากที่บ้าน' ช่วง COVID-19


วิกฤต COVID-19 ผลักดันให้การ 'ทำงานจากที่บ้าน' หรือ 'Work From Home' (WFH) ได้รับความนิยมขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้จะมีการอ้างถึงการใช้ชีวิตอย่างยืดหยุ่นมากขึ้นของคนทำงาน แต่เหล่าบรรดานายจ้างกลับมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง และบางส่วนก็เป็นการ 'ผลักภาระ' ให้คนทำงานแทน

ผลสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานในสหรัฐฯ โดย CreditCards.com เมื่อเดือน มิ.ย. 2563 พบว่าคนทำงานที่บ้านมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า 108 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,400 บาท) ต่อเดือน โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือการซื้อของชำเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยค่าสาธารณูปโภคภายในบ้านที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานที่บ้านแบ่งตามช่วงอายุก็ยังต่างกัน โดยคุนรุ่นมิลเลนเนียลมีค่าใช้จ่ายจากการทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น 208 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6,500 บาท) ต่อเดือน ในขณะที่เจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ ระบุว่าต้นทุนการทำงานของพวกเขาลดลงหากทำงานที่บ้านแทน นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะมีรายจ่ายจากการทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น 151 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4,700 บาท) ต่อเดือน ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,900 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น
อากาศหนาวลง กับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น


อากาศที่หนาวเย็นลงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งไฟฟ้าและก๊าซในการทำความร้อนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และกำลังจะเป็นภาระให้กับคนทำงานที่บ้านในอังกฤษ

ที่อังกฤษ สกู้ปชิ้นหนึ่งของเว็บไซต์ Liverpool Echo ที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2563 ได้ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น ผันแปรตามสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงของคนอังกฤษที่ต้องทำงานที่บ้าน

ทั้งนี้รัฐบาลอังกฤษให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจว่าควรให้พนักงานทำงานที่บ้านต่อไปอย่างน้อยอีก 6 เดือน แม้ว่าคนทำงานจะเริ่มอยู่กับบ้านมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 แล้วก็ตาม สื่อ Liverpool Echo ระบุว่าที่ผ่านมาคนอังกฤษอาจจะเห็นว่าตนเองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายจากการทำงานที่บ้านนี้กำลังจะพุ่งสูงขึ้นเมื่อฤดูใบไม้ร่วงเริ่มขึ้น สอดคล้องกับการใช้ก๊าซและไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้น

โดยปกติแล้วคนอังกฤษคุ้นเคยกับการมุ่งหน้าไปยังสำนักงานที่อบอุ่นด้วยระบบทำความร้อนที่ใช้ร่วมกันในแต่ละวันด้วยค่าใช้จ่ายของนายจ้าง แต่ตอนนี้ภาระนั้นกำลังจะตกมาเป็นของคนทำงานอยู่ที่บ้านแทน

ค่าใช้จ่ายในการทำความร้อนจะแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน จากอุปกรณ์ทำความร้อนที่มีขนาดแตกต่างกันไป บ้านโดยเฉลี่ยในอังกฤษที่มีห้องน้ำ 1 ห้อง และมีแผงทำความร้อน (radiators) 10 แผง จะต้องมีหม้อไอน้ำ (boiler) ขนาด 24-27 กิโลวัตต์ ในขณะที่บ้านหลังใหญ่ที่มีแผงทำความร้อนมากกว่า 20 ตัว และห้องน้ำ 3 ห้องหรือมากกว่านั้นจะต้องใช้หม้อไอน้ำขนาด 35-42 กิโลวัตต์

โดยหม้อไอน้ำขนาด 24 กิโลวัตต์ นั้นหากใช้งานโดยเฉลี่ยแปดชั่วโมงต่อวันจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 7.28 ปอนด์ (ประมาณ 300 บาท) และหากทำงานที่บ้านติดต่อกันทั้งเดือน คนทำงานอังกฤษก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ145 ปอนด์ต่อเดือน (ประมาณ 5,900 บาท)
แนวคิดจ่ายเงินเพิ่มให้คนทำงานที่บ้าน

ทั้งนี้เริ่มมีการตั้งคำถามถึงค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ที่ดูเหมือนว่านายจ้างได้ผลักภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้กับคนทำงานจ่ายแทน และบางประเทศเริ่มมีการสำรวจ 'โครงสร้างต้นทุนในการทำงานจากที่บ้าน' บ้างแล้ว

ที่เนเธอร์แลนด์ สถาบัน NIBUD ที่ศึกษาวิจัยด้านการเงินครอบครัว ได้คำนวณค่าใช้จ่ายส่วนที่เคยเป็นความรับผิดชอบของนายจ้างในช่วงปกติ แต่ต้องกลายมาเป็นภาระของคนทำงานในช่วงการทำงานจากบ้าน ซึ่งได้แก่ เครื่องดื่มต่าง ๆ (เช่น น้ำชา กาแฟ) กระดาษชำระ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าเสื่อมของอุปกรณ์การทำงาน พบว่าการทำงานที่บ้านนั้นคนทำงานต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้แทนนายจ้างเฉลี่ยประมาณ 2.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน (ประมาณ 75 บาท)

แม้ตัวเลขนี้จะดูน้อยนิด แต่มีความกังวลว่ามันจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายสะสมพอกพูนขึ้นไป หากมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้านอย่างถาวรในช่วงที่ COVID-19 ได้คลี่คลายแล้ว

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้เริ่มนำผลการวิจัยของ NIBUD ไปใช้ โดยได้จ่าย 'โบนัส COVID-19' ให้กับคนทำงานภาครัฐ มูลค่า 427.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 13,300 บาท) ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ที่เริ่มมีการล็อกดาวน์และบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

FNV ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ก็ออกมาสนับสนุนแนวคิดที่ให้คนทำงานบ้านทุกคนได้รับค่าตอบแทนตามที่ NIBUD กำหนดไว้

แต่สำหรับภาคเอกชน ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป อย่างสมาคมนายจ้าง AWVN ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนายจ้างในเนเธอร์แลนด์ มองว่าตัวเลขที่ NIBUD คำนวณออกมานั้นไม่ได้สะท้อนถึงสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับจากการย้ายไปทำงานที่บ้าน เช่น การที่ได้ประหยัดค่าเดินทาง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่ารัฐบาลในยุโรปหลายประเทศเริ่มตระหนักถึงปัญหาของการทำงานจากที่บ้าน และเริ่มมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาปกป้องคนทำงานบ้างแล้วเหมือนกัน เช่นที่เยอรมนี กำลังมีการถกเถียงเรื่องสิทธิประโยชน์ของคนทำงานระยะไกล ที่ฝรั่งเศส รัฐบาลออกกฎหมายห้ามนายจ้างส่งอีเมล์ถึงลูกจ้างหลังเวลาทำงาน ส่วนที่สเปนยังมีกฎที่ออกใหม่ในช่วง COVID-19 คือการให้นายจ้างรับผิดชอบค่ารักษาดูแลอุปกรณ์ในการทำงานที่บ้านของพนักงานอีกด้วย

ที่มาเรียบเรียงจาก
Working from home costs employees more in everyday expenses, survey says ​​​​​​​
In the work-from-home era, who pays for coffee and toilet paper? (The Christian Science Monitor, 7/10/2020)
Working from home could cost you an extra £145 a month (Liverpool Echo, 25/9/2020)

*หมายเหตุภาพประกอบทั้งหมดในรายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไข CC0 public domain

เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท

เรื่องที่ได้รับความนิยม