Tuesday, October 19, 2010

ศึกษารูปแบบขบวนการแรงงานในญี่ปุ่น: (ตอนที่หนึ่ง) รูปแบบการจัดองค์กร

วิทยากร บุญเรือง (เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท)

ความนำ

ประเทศญี่ปุ่นถือว่ามีการพัฒนาอุตสากรรมที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้พลวัตทางด้านขบวนการของญี่ปุ่นก็มิได้หยุดนิ่ง รวมถึงการรวมตัวเป็นขบวนการแรงงานในอดีตนั้น ได้ส่งผลมาถึงแรงงานในยุคปัจจุบัน ที่ในญี่ปุ่นถือว่ามีสวัสดิการที่ดีพอสมควร เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอื่นๆ
สำหรับประเทศญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบแรงงานสัมพันธ์ของญี่ปุ่น ประการแรก การเข้ายึดครองญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ของญี่ปุ่น กล่าวคือ ญี่ปุ่นนำหลักเกณฑ์กฎหมายแรงงานของสหรัฐฯ มาใช้ แต่ในช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลห้ามการก่อตั้งสหภาพแรงงาน และมีการปราบปราบการรวมกลุ่มของคนงานอยู่บ่อยครั้ง แต่หลังจากรัฐบาลอนุญาตให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานเพิ่มจำนวนขึ้น กล่าวคือ ประมาณ 40% ของแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา สัดส่วนสมาชิกสหภาพแรงงานลดต่ำลงจากประมาณ 35% ของแรงงานทั้งหมดไปเป็น 24 % ในปี 1995 [1]

โดยในรายงานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอถึงรูปแบบของขบวนการแรงงานในญี่ปุ่นพอสังเขป โดยกล่าวถึงรูปแบบการจัดตั้งองค์กร 3 ระดับ คือในระดับชาติ ระดับอุตสาหกรรม และในระดับสถานประกอบการ [2]

0 0 0

ขบวนการแรงงานในปัจจุบัน ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีโครงสร้างที่จัดตั้งขึ้นเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ ระดับชาติ ระดับอุตสาหกรรม และระดับสถานประกอบการ

รูปแบบขององค์กรระดับชาติ

จวบจนถึงปี 1987 ขบวนการแรงงานในระดับชาติยังไม่มีการรวมศูนย์อย่างชัดเจน โดยมีศูนย์แรงงานแห่งชาติที่สำคัญอยู่ 4 แห่ง (Rengo-Tai หมายถึงสมาพันธ์องกร) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสหภาพแรงงาน คือ

Sohyo (the General Council of Trade Unions of Japan) ก่อตั้งในปี 1950 [3] มีสมาชิกประมาณ 4.1 ล้านคน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว Sohyo จะให้การสนับสนุนพรรคสังคมนิยมแห่งญี่ปุ่น

Domei (Japan Confederation of Labour) มีสมาชิก 2.1 ล้านคน Domei ให้การสนับสนุนพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคู่แข่งกับ Sohyo และพรรคสังคมนิยมแห่งญี่ปุ่น

Churitsu - Roren (Federation of Independent Unions) มีสมาชิก 1.6 ล้านคน โดยทั่วไปมักที่จะร่วมเคลื่อนไหวกับ Sohyo เช่นในการเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าแรง เป็นต้น

Shin - Sambetsu (National Federation of Industrial Organization) มีสมาชิกประมาณ 66,000 คน

ก่อนหน้านั้นมีความพยายามที่จะรวมองค์กรต่างๆ ไว้ภายใต้ศูนย์แห่งชาติแห่งเดียว เช่นความพยายามในปี 1982 ได้มีการจัดตั้ง Zen Min Rokyo (All - Japan Council of Labour Union in the Private Sector) ความพยายามนี้เริ่มด้วยการนำเอาสหภาพแรงงานเอกชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกในศูนย์แรงงานแห่งชาติ 4 แห่งที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ มีสมาชิกประมาณ 4.8 ล้านคน เข้ามารวมกลุ่มกัน

และในปี 1987 ความพยายามรวมศูนย์ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยสหภาพแรงงานของญี่ปุ่นได้พยายามยามรวมกันก่อตั้งสหพันธ์แรงงาน Rengo (All - Japan of Private Labour Unions) ให้เป็นองค์กรแรงงานหลัก [4]

จนถึงปี 1989 มีการควบรวม Domei และ Churitsu-Roren ตั้งเป็นศูนย์แรงงานแห่งชาติ Rengo จากนั้นก็เริ่มมีพัฒนาการเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับการรวมศูนย์ขบวนการแรงงานในญี่ปุ่น เมื่อ Sohyo ได้เข้าร่วมกับ Rengo ในปี 1990 ทำให้ Rengo กลายเป็นองค์กรแรงงานระดับชาติที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น [5] หรือที่นิยมเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า Shin-Rengo (Japanese Trade Union Confederation) โดยคาดการกันว่าในแรกเริ่มมีสมาชิกถึง 8 ล้านคน

อย่างไรก็ตามพบว่ายังคงมีความแตกแยกใน Rengo เพราะ สหภาพแรงงานบางสหภาพมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน เช่นบางสหภาพสนับสนุนปีกซ้ายในพรรคสังคมนิยมแห่งญี่ปุ่น และบางสหภาพสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น

เหตุผลทางด้านอุดมการณ์นี้ ทำให้หลายกลุ่มแยกตัวออกมัวตั้งองค์กรเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนสมาชิกของ Rengo เอง ที่ลดจำนวนมาจากทศวรรษที่ 1980"s โดยปัจจุบันจากการประมาณการในปี 2006 พบว่า Rengo มีสมาชิกประมาณ 6 ล้านคน [6]

ถึงแม้ Rengo จะถูกวาดภาพให้เป็นองค์กรรวมศูนย์ระดับชาติ แต่ทั้งนี้ Rengo กลับมีอำนาจตัดสินใจเหนือองค์กรสมาชิกน้อยมาก ซึ่งแม้จะมีการก่อตั้ง Rengo ขึ้น มา แต่ไม่มีอำนาจอย่างเป็นทางการต่อสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สหภาพแรงงานสถานประกอบการแต่ละแห่งมุ่งรักษาอำนาจและสถานะเดิมของตนเอาไว้ [7]

นอกจากศูนย์แรงงานแห่งชาติ Rengo แล้วก็ยังมีองค์กรแห่งชาติอื่นๆ อีกหลายองค์กร ซึ่งส่วนมากเป็นองค์กรระดับสภา (Kyogi-tai) เช่น Kinzoku Rokyo (International Metal Workers Federation, Japan Council - IMF - JC) มีสมาชิกประมาณ 2 ล้านคน และ Kagaku Enerugi Rokyo (International Chemical and Energy Workers Federation, Japan Council) มีสมาชิก 650,000 คน

ทั้งนี้ IMF-JC ซึ่งเข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1958 มี บทบาทสำคัญมานาน โดยเฉพาะการรณรงค์เพิ่มค่าจ้างในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งดำเนินการผ่านทางสมาชิกในเครือ เช่น สหภาพแรงงานเหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้า และรถยนต์ [8]

ส่วนบทบาทหน้าที่ของศูนย์ แรงงานแห่งชาติในอดีตนั้นก็มีเพียงการเป็นตัวแทนองค์กรแรงงานในการประชุม เจรจาเรื่องต่างๆ ของภาครัฐ และในการประชุมสมัชชาต่างๆ ของภาคเอกชน โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงจะไม่เข้าร่วมเจรจาต่อ รองร่วมในระดับสถานประกอบการ อย่างมากที่สุดก็เพียงแต่สร้างแรงกดดันให้กับรัฐในการออกกฎหมายใหม่ๆ และให้นายจ้างทำการปรับปรุงทั่วไป

รูปแบบของสมาพันธ์อุตสาหกรรม

สมาพันธ์อุตสาหกรรม (Tansan) ส่วนใหญ่เป็นสหพันธ์องค์กรของสหภาพแรงงานสถานประกอบการที่แยกตามอุตสาหกรรม โดยหลักการสมาพันธ์เหล่านี้เป็นสมาชิกในเครือของศูนย์แรงงานแห่งชาติแต่ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

สมาพันธ์อุตสาหกรรม ก็เช่นเดียวกับศูนย์แรงงานแห่งชาติ ที่จะไม่เข้าร่วมเจรจาต่อรองในระดับสถานประกอบการ ยกเว้นในกรณีของสหภาพแรงงานกลาสีเรือแห่งญี่ปุ่น (The Japan Seamen"s Unions) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1896 ในเมืองท่าโกเบ โดยถือว่าเป็นองค์กรแรงงานของกลาสีเรือในญี่ปุ่นแห่งแรก [9]

โดยสหภาพแรงงานกลาสีเรือแห่งญี่ปุ่นเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมที่รวมเอา บรรดากลาสีเรือ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างของบริษัทใดก็ตามเข้าไว้ในองค์กร สหภาพแรงงานจะทำการเจราจาต่อรองโดยตรงกับสมาคมเจ้าของเรือ (The Association of Shipowners) เกี่ยวกับเงื่อนไขการว่าจ้างและสภาพการทำงานของบรรดากลาสีเรือทั้งหมดในญี่ปุ่น

สมาพันธ์อุตสาหกรรมมีลักษณะคล้ายๆ กับศูนย์แห่งชาติที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนแรงงานในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เช่น เป็นตัวแทนในการประชุมด้านการค้าและอุตสาหกรรม ของอุตสาหกรรมเหล็ก สิ่งทอ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

สมาพันธ์อุตสาหกรรมได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากสมาชิกในเครือของตน กล่าวคือ บรรดาสหภาพแรงงานของสถานประกอบการต่างๆ และ ในขณะเดียวกันสมาพันธ์อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็จะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน แก่ศูนย์แห่งชาติ ทั้งนี้สมาพันธ์อุตสาหกรรมไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากฝ่ายบริหาร

ทั้งนี้ศูนย์แห่งชาติและสมาพันธ์อุตสาหกรรมต่างก็พยายามจัดให้แรงงานที่ยังไม่ได้ อยู่ในระบบสหภาพแรงงานให้เข้าอยู่ในสหภาพแรงงาน ในบางกรณีก็จะช่วยเสริมพลังความเข้มแข็งให้กับสมาชิกในเครือ โดยการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการให้บริการอื่นๆ

รูปแบบของสหภาพแรงงานในระดับสถานประกอบการ

โดยส่วนใหญ่แล้ว สหภาพแรงงานในญี่ปุ่นจะเป็นสหภาพแรงงานภายในองค์กรซึ่งจัดขึ้นสำหรับลูกจ้าง ของแต่ละบริษัทเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นจะเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม, สหภาพแรงงานช่างฝีมือ และที่เหลือเป็นสหภาพแรงงานประเภทต่างๆ รวมทั้งสหภาพแรงงานทั่วไปด้วย

ในกรณีของบริษัทที่มีสำนักงานสาขาหรือโรงงานในท้องถิ่นต่างๆ สำนักงานหรือสาขาเหล่านั้นก็จะทำการจดทะเบียน ณ สถานที่ซึ่งแรงงานเข้าร่วมสหภาพแรงงานและสหภาพแรงงานของลูกจ้างทั้งหมดของ บริษัทก็จะไปเป็นในรูปของสมาพันธ์สหภาพแรงงานของโรงงานและสำนักงานต่างๆ เหล่านี้

โดยสหภาพแรงงานในญี่ปุ่นมีรูปแบบที่แตกต่างอย่างเห็นชัดอยู่ 2 แบบคือ

Tan"i Kumiai (สหภาพ แรงงานหน่วย) โดยแรงงานแต่ละคนจะเป็นสมาชิกโดยตรง แต่องค์กรไม่มีหน่วยย่อย ตัวอย่างคือ สหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นในสถานประกอบการขนาดเล็กซึ่งไม่มีสาขา

Tan"i Tsu Kumiai (สหภาพแรงงานเดี่ยว) โดย แรงงานแต่ละคนจะเป็นสมาชิกโดยตรง แต่มีองค์กรสาขา และทำหน้าที่คล้ายๆ กับสหภาพแรงงานหน่วย ตัวอย่างคือ สหภาพแรงงานสถานประกอบการซึ่งจัดตั้งในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสำนักงานสาขาและ โรงงานในท้องถิ่นต่างๆ

ทั้งนี้งานบริหารงานบุคคลในญี่ปุ่นมีลักษณะรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมาก ดังนั้นสหภาพแรงงานจึงถูกแทรกซึมและมีการจัดกิจกรรมและบริการต่างๆ ในระดับสถานประกอบการสำหรับสมาชิกสหภาพในสถานประกอบการของตนเองเท่านั้น

ทำให้สหภาพแรงงานที่จัดตั้งในระดับสถานประกอบการนั้น มีจุดยืนที่มักจะร่วมมือกับฝ่ายบริหาร เพื่อความอยู่รอดและความเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นลักษณะประนีประนอมอันเป็นลักษณะเด่นของสหภาพแรงงานในญี่ปุ่น

รวมถึงประเพณีที่ถือปฏิบัติกันหลังยุคสงครามก็คือ ลูกจ้างประจำเท่านั้นที่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ ภายใต้หลักการที่ว่า "หนึ่งบริษัท หนึ่งสหภาพแรงงาน" โดยการจัดการต่อแรงงานของบริษัทในญี่ปุ่นมักจะครอบงำแรงงานโดยอ้างเหตุผล คล้ายๆ กับระบบครอบครัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่สำคัญของคนญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลต่อการจัดการความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับบริษัทด้วยวิธีประนี ประนอม อันจะขอกล่าวถึงในตอนต่อไป

0 0 0

โดยสรุปแล้วรูปและการจัดองค์กรของขบวนการแรงงานในญี่ปุ่น ก็เป็นเช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศ ที่มี 3 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับอุตสาหกรรม และระดับสถานประกอบการ

ในระดับชาติ ปัญหาที่พบก็เช่นเดียวกับหลายๆ ที่ คือ ความเป็นเอกภาพในองค์กรระดับชาติ และบทบาทหน้าที่ในอดีตของศูนย์ แรงงานแห่งชาติในอดีตนั้นก็มีเพียงการเป็นตัวแทนองค์กรแรงงานในการประชุม เจรจาเรื่องต่างๆ ของภาครัฐ และในการประชุมสมัชชาต่างๆ ของภาคเอกชน โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงจะไม่เข้าร่วมเจรจาต่อ รองร่วมในระดับสถานประกอบการ อย่างมากที่สุดก็เพียงแต่สร้างแรงกดดันให้กับรัฐในการออกกฎหมายใหม่ๆ และให้นายจ้างทำการปรับปรุงทั่วไป

ในระดับอุตสาหกรรม ก็มีลักษณะคล้ายๆ กับศูนย์แห่งชาติที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนแรงงานในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ทั้งนี้สมาพันธ์อุตสาหกรรมได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากสมาชิกในเครือของตน กล่าวคือ บรรดาสหภาพแรงงานของสถานประกอบการต่างๆ และในขณะเดียวกันสมาพันธ์อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็จะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ศูนย์แห่งชาติ

ส่วนในระดับสถานประกอบการ สหภาพ แรงงานมักมีจุดยืนที่มักจะร่วมมือกับฝ่ายบริหาร เพื่อความอยู่รอดและความเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน รวมถึงประเพณีที่ถือปฏิบัติกันหลังยุคสงครามก็คือ ลูกจ้างประจำเท่านั้นที่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ ภายใต้หลักการที่ว่า "หนึ่งบริษัท หนึ่งสหภาพแรงงาน" โดยการจัดการต่อแรงงานของบริษัทในญี่ปุ่นมักจะครอบงำแรงงานโดยอ้างเหตุผล คล้ายๆ กับระบบครอบครัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่สำคัญของคนญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลต่อการจัดการความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับบริษัทด้วยวิธีประนี ประนอม

ในตอนต่อไป จะเป็นการนำเสนอการบริหารสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงวิธีการเจรจาต่อรองร่วม การหาข้อยุติข้อพิพาท ที่มีลักษณะเด่นคือ "การประนีประนอม" อันเป็นลักษณะเด่นของขบวนการแรงงานในญี่ปุ่น

......................................

[1] จาก "ความเหมือนและความต่าง ลัทธิสหภาพแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ สหภาพแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์: เปรียบเทียบ เอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ" (วรดุลย์ ตุลารักษ์ แปลจาก แปลจาก: Jensen, Carsten Stroby. "Trade Unionism: Differences and Similarities - a Comparative View on Europe, USA and Asia", Journal of Industrial Relations, Vol. 48, No. 1, 59-81 (2006) - บทความลำดับที่ 1448 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

[2] เนื้อหาส่วนใหญ่ในรายงานชิ้นนี้ เรียบเรียงมาจาก "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคนิคการบริหารบุคลากรในญี่ปุ่น" ธัญญา ผลอนันต์ แปลจาก "Human Resource Development in Japan Companies" By Hideo Inohara

[3] จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Sohyo (เข้าดูเมื่อ 25 พ.ค. 51)

[4] จาก "ความเหมือนและความต่าง ลัทธิสหภาพแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ สหภาพแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์: เปรียบเทียบ เอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ" (วรดุลย์ ตุลารักษ์ แปลจาก แปลจาก: Jensen, Carsten Stroby. "Trade Unionism: Differences and Similarities - a Comparative View on Europe, USA and Asia", Journal of Industrial Relations, Vol. 48, No. 1, 59-81 (2006) - บทความลำดับที่ 1448 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

[5] จาก http://en.wikipedia.org/wiki/RENGO (เข้าดูเมื่อ 25 พ.ค. 51)

[6] จาก http://en.wikipedia.org/wiki/RENGO (เข้าดูเมื่อ 25 พ.ค. 51)

[7] จาก "ความเหมือนและความต่าง ลัทธิสหภาพแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ สหภาพแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์: เปรียบเทียบ เอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ" (วรดุลย์ ตุลารักษ์ แปลจาก แปลจาก: Jensen, Carsten Stroby. "Trade Unionism: Differences and Similarities - a Comparative View on Europe, USA and Asia", Journal of Industrial Relations, Vol. 48, No. 1, 59-81 (2006) - บทความลำดับที่ 1448 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

[8] จาก http://www.imf-jc.or.jp/e_HTML/who.html (เข้าดูเมื่อ 25 พ.ค. 51)

[9] จาก http://www.jsu.or.jp/eng/eng.htm

เรื่องที่ได้รับความนิยม